26 มกราคม 2556

ควร "มองโลกในแง่ดี" จริงหรือ ?



           คำศัพท์ที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงทศวรรษนี้ ก็คือคำว่า “คิดด้านบวก” หรือ “มองโลกในแง่ดี” หรือ “Positive Thinking”  ซึ่งก็เป็นกระแสมาจากทางซีกโลกตะวันตก  คนที่คอยวิ่งตามกระแสตะวันตกก็มักหยิบยกมาพูด มาเขียนถึง หรือเอามาใช้  ถ้าให้ลองนึกถึงสาเหตุว่า ทำไม..ต้องพยายามคิดด้านบวก?  ก็น่าจะเกิดจากว่าถ้าคิดด้านลบแล้วมันเป็นทุกข์ หรือถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งให้มันตรงๆก็คือ “เกิดความทุกข์ใจแล้ว จึงหาทางออกหรือหาวิธีบำบัด” นั่นก็คือ คิดด้านบวก หรือมองโลกในแง่ดี แล้วก็บำบัดความทุกข์ใจนั้นลงได้
          ถ้าใคร่ครวญกันให้ละเอียด  ทำไม..เราต้องคิดด้านบวกหรือมองโลกในแง่ดี  พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์” คำว่า “ทุกข์”  จะหมายถึง “ทุกขัง” ในไตรลักษณ์ก็ได้ (ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) หรือจะหมายถึง “ความทุกข์กายทุกข์ใจ” ก็ได้ (คือเมื่อเราเผชิญกับความแก่-เจ็บ-ตาย ผิดหวัง พลัดพราก เราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์)  ซึ่งคำสอนพระพุทธเจ้าดูจะสวนทางกับกระแสนิยมชาวโลก (ไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นสุข, ไม่ได้นำหลักธรรมมาเน้นส่งเสริมความสุขในชีวิตประจำวันเหมือนปัจจุบันนี้ อุปมาประหนึ่งว่าไฟกำลังไหม้ศีรษะ แต่ก็สอนกันให้ท่องบ่นว่า เย็นหนอ..เย็นหนอ หรือสุขหนอ..สุขหนอ  ไม่เดือดร้อนหนอ..ไม่เดือดร้อนหนอ แทนที่จะรีบหาน้ำมาดับไฟ) 
          ผมไม่ได้บอกว่า การมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นการหลอกลวงหรือมองในด้านไม่เป็นจริง เพราะเขาก็มองตรงตามสิ่งที่ปรากฏ เช่น เมื่อพ่อแม่ตาย เขาก็มองว่า เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นเรื่องธรรมชาติ ใครๆก็ต้องตาย  ซึ่งมันก็จริงและตรงสัจธรรม เมื่อคิดได้อย่างนี้เขาก็ไม่เป็นทุกข์ใจ,  หรือเขาจะมองอีกแง่หนึ่งว่า ดีแล้วลูกๆจะได้แบ่งมรดกกัน หรือดีแล้วลูกๆจะได้ไม่ต้องคอยพยาบาลกันให้เป็นภาระ ฯลฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคิดด้านบวกได้ทั้งนั้น เพราะมันบำบัดความทุกข์ใจได้จริงๆด้วย 
          แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ดี  คำถามก็คือ..แล้วเมื่อไรเราจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อโลก?(นิพพิทา)  ฉะนั้น จะเห็นว่ากระแสของคำนี้มันกำลังมีอิทธิพลให้ “มนุษย์กลบเกลื่อนความทุกข์”  ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะมองโลกในแง่ดี แล้วจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกไหม  หรือเมื่อพระองค์ตรัสรู้ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา”  แล้วทำไมต้องชี้แนะพร่ำสอนวิธีการปฏิบัติอันมากมาย เช่น ต้องถือศีล ต้องเจริญสัมมาสติ เจริญสัมมาสมาธิ ต้องทำความเพียรให้มาก ฯลฯ ? (มันเหนื่อยและขัดใจเราจะตาย)
          ก็เพราะว่า สิ่งที่เป็นอยู่จริงนั้น อุปมาก็เหมือนกับ เราเห็นแล้วว่าเหรียญมี 2 ด้าน แต่เราไม่ชอบด้านหัว เราก็เลยบอกให้ตัวเอง(ฝึก)มองเฉพาะด้านก้อย แล้วเราก็เกิดความสบายใจ  แต่คำถามคือ..เราลืม(ว่าเหรียญมี 2 ด้าน)ได้จริงหรือเปล่า?  ถึงเราจะพยายามหลอกตัวเองอย่างไร ฝึกนานแค่ไหน แต่ความจริงก็คือ “เหรียญมี 2 ด้าน ไม่ใช่ด้านเดียว” และ “เรารู้ว่าเหรียญมี 2 ด้าน”        ฉะนั้น ต้อง “มองโลกตามความจริงที่ปรากฏ” ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่า มันเป็นทุกข์หรือสุข  บวกหรือลบ  ดีหรือชั่ว  Positive หรือ Negative  ทุกอย่างเกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุมีที่มา (ผลเกิดจากเหตุ) 
          อย่างไรก็ดี  ถึงแม้เราจะทราบเหตุผลชัดเจนในสิ่งที่เกิดขึ้น  แต่เราก็ยังคงเกิดความรู้สึกทุกข์ใจอยู่เนืองๆ  พอความทุกข์ใจเกิดขึ้นเราก็พยายามดับมัน ซึ่งก็ดับได้  แต่มันดับได้แบบเป็นครั้งเป็นคราว  ดับทุกข์เรื่องนี้ไปแล้ว แต่ทุกข์เรื่องใหม่ก็เกิดอีก  ก็วิ่งดับทุกข์กันอยู่เรื่อยไป บ่อยเข้าก็ชาชินจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา สภาพเช่นนี้ภาษาธรรมะเรียกว่า พอใจในภพ (ภวตัณหา)  ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การเกิด (ชาติ)  ก็เป็นวัฏจักร วนเวียนไม่จบสิ้น
          พระพุทธเจ้าได้ทดลองพิสูจน์ค้นคว้าโดยรอบคอบแล้ว จึงสรุป “วิธีดับทุกข์แบบถาวร” แล้วนำมาบอกสอน นั่นคือ “มรรคองค์ ๘” เป็นหนทางที่จะ “หยุดการเกิด”  ส่วนการดับทุกข์แบบชั่วคราวด้วยวิธีต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธเจ้า ชาวโลกทั่วไปเขาก็คิดค้นมาสอนกันอยู่แล้วแต่ไหนแต่ไร เช่น ด้านร่างกาย ก็ผลิตวัตถุสิ่งของขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวก  ด้านจิตใจ ก็สอนวิธีทำสมาธิ (อย่างฤๅษีทั้งหลาย)

21 มกราคม 2556

"ใครหลอกเรา" ว่าต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ ???


    สมัยเด็กตอนทีผมกำลังทำกิจกรรมบางอย่างอยู่แบบติดพัน พอได้เวลากินข้าว(เช้า-เที่ยง-เย็น) แม่ก็จะเรียกให้ไปหยุดแล้วไปกินข้าว ถ้าเราไม่หยุด ท่านก็เรียกแล้วเรียกอีกด้วยความเป็นห่วง "จนเกินเหตุ"  ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า ???  "ทำไมคนเราต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ  ใครเป็นคนกำหนด มนุษย์คนไหนเป็นแรกที่กำหนดว่าทุกคนต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ เขามีเหตุผลอะไร"  แต่ด้วยความเป็นเด็กแม้จะคิด แต่ก็ไม่ได้ถามใคร

     พอโตขึ้นมา ดูเหมือนเรื่องการกินจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะแต่ละวันมนุษย์ไม่ได้กินแค่วันละ 3 มื้อ เหมือนที่เราเข้าใจตอนเด็กๆ  "เราไม่ได้กินเพื่อดับความหิว" แต่เรากินตามสิ่งที่มาหลอกล่อ (เหยื่อ) เช่น ตามองเห็นสีสัน หูได้ยินเสียงคนเรียก(โฆษณา) จมูกได้กลิ่น ความคิดปรุงแต่งนึกถึงรสชาติ(ลิ้น)และกายสัมผัส(นิ่ม-กรอบ)เดิมทีเคยได้ลิ้มลอง

     ผลที่ตามมา คือ ปริมาณอาหารที่กินเข้าไปมันเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาสะสมขยะไว้ในร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ หรือเกิดความเสื่อมของร่างกาย (เติบโต แปลว่า ชรา, ชรา แปลว่า เสื่อม, เสื่อม ก็คือ อนิจจัง หรือ ทุกขัง นั่นเอง)

     เมื่อได้เริ่มสนใจหลักธรรมทางพุทธศาสนา จึงได้ทราบว่า พระภิกษุกินอาหาร(ฉัน)แค่มื้อเดียวท่านก็อยู่กันได้  พระบางรูปท่านเริ่มบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จนเป็นพระอายุ 70-80 ปี ทำไมท่านมีชีวิตอยู่ได้ ก็พอๆกันกับชาวบ้านที่เขากินข้าววันละ 3 มื้อ

     ลองดูเถอะ ถ้าลดปริมาณกิจกรรมเกี่ยวกับการกินอาหารให้น้อยลง เราจะเห็นว่า ชีวิตมีเวลาว่างมากขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาอาหาร เช่น ไปจ่ายตลาด ขับรถไปซื้อ ฯลฯ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหุงหาประกอบอาหาร  ไม่ต้องนัดมาสังสรรค์กินกันอย่างมอมเมา(บ้าคลั่งราวกับเปรตที่อดอยากมานาน)  เมื่อเรากินน้อยใช้น้อย ก็มีเหลือพอที่จะเอื้อเฟื้อคนอื่นที่ขาดแคลน ก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น  และไม่ต้องดิ้นรนวิ่งตามความโลภจนเหนื่อยหอบอย่างทุกวันนี้
     ("รวย" มี 2 แบบ ได้แก่  1. รวยแบบล้นเหลือ คือ มีพอแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้อื่น,  2. รวยแบบหิวโหย ถึงมีมากก็ไม่คิดจะแบ่งปันใคร เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่อิ่มไม่พอ มีสมบัติมากก็เพียงเอาไว้เชยชม แต่ไม่ได้ใช้  อุปมาก็เหมือนกับเปรต  ปากเท่ารูเข็ม แม้มีมากก็กินไม่ได้มาก  หิวโหยอยู่ร่ำไป  สำหรับคนที่นิยมความรวยในแบบที่ 2 นั้น ตอนนี้ก็ได้สร้างภพหน้าไว้แล้ว ก็คือ "เปรตวิสัย" คือที่หมาย)

     เราน่าจะเคยเห็น เวลาที่เขาฝึกสัตว์ เช่น สุนัข เขาก็ใช้อาหารเป็นเครื่องล่อหรือรางวัล   หรือเวลาที่พรานล่าสัตว์ เขาวางกับดัก เขาก็ใช้อาหารเป็นเครื่องล่อ(เหยื่อ) เมื่อสัตว์มากิน มันก็ติดกับดักนั้น (คงเคยเห็นเขาดักหนู ดักแมลงสาบ)
     ในขณะเดียวกัน  มนุษย์เราเองก็วิ่งเข้าหาอาหาร(เหยื่อ) จนลืมมองเห็นภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ (แบบลืมตาย)  ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยรากเหง้าแห่งสติปัญญา(ระดับจิต) เราอาจไม่ได้เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน  เราเหนือกว่าเพียงด้าน "ร่างกาย" คือ มีสมอง และสรีระร่างกาย ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า  ฉะนั้น  เมื่อระดับจิตหรือระดับสติปัญญาไม่แตกต่างกัน ก็ไม่แปลกอะไร...ที่จิตจะมีโอกาส "วนเวียนไปเกิด" ในอัตภาพร่างกายของสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน (หรือสัตว์ประเภทอื่นๆ) โดยเท่าเทียม
    สิ่งที่น่าสงสัย....  "ใครหลอกเรา" ว่ามนุษย์ต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ ???   สัตว์บางประเภทไม่ได้กินบ่อยเท่ามนุษย์ เช่น เสือ สิงโต มันออกล่าเฉพาะเวลาหิว,   นก ออกหากินทุกเช้า ไม่เก็บสะสม  แต่สัตว์บางประเภทก็กินไม่หยุด กินจนกว่าท้องแตกก็มี เช่น ปลา (หรือ ชูชก ^-^)   คำตอบ ก็คือ "ธรรมชาติ" วางกับดับความเกิด(ชาติ)ไว้แบบนี้  ใครหลงพอใจก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป  ส่วนใครไม่พอใจก็ "เดินตามพระพุทธเจ้าออกไป"

   ปลาหน้าโง่  เห็นเหยื่อล่อ  ก็เต้นใส่
อ้างับไป  ได้เบ็ดมา  เกี่ยวปากหนอ
ต้องปวดแสบ  ดิ้นเร่าเร่า  น้ำตาคลอ
เมื่อไหร่หนอ  เขาจะมา  พาไปแกง
     ธรรมกำหนด  เหตุปัจจัย  ไว้อย่างนี้
ถ้าอยากหนี  จากวัฏฏะ  น่าแขยง
อย่ามีปลา  อย่ามีโง่  ให้ใครแกล้ง
ปล่อยเหยื่อแห้ง  เบ็ดกร่อนไป  ไม่ทุกข์เอย
(ปลา=อัตตา,  โง่=สีลัพพตปรามาส,  เหยื่อ=กามคุณ, เบ็ด=มิจฉาทิฏฐิ)





19 พฤษภาคม 2554

คนรักหมา...หมารักคน

คนรักหมา...หมารักคน
  Love Me Love My Dog

         หลวงพ่อท่านพูดบ่อยๆ ว่าหลวงปู่ชาไม่พาเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงไก่ เพราะมันรบกวนหลายๆ อย่าง  และห้ามจัดอาหารไว้เลี้ยงมันด้วย (จะเทเศษอาหารในป่าแล้วให้หมามันไปหากินเอง) มันจะได้ไม่พัวพันกับคน  ดังนั้น นโยบายของหลวงพ่อคือไม่เลี้ยงสัตว์ภายในวัด ให้มันเข้ามาหากินได้ตามสัญชาตญาณของมันเอง ทำเหมือนกับว่าต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจกัน  หรือถ้ามันจะมากับโยมก็มาได้ แล้วก็ต้องกลับไปพร้อมโยม ห้ามเข้ามาในศาลา และที่สำคัญอย่าหยอกล้อมัน อย่าแสดงท่าทีเล่นเป็นเพื่อนกับมัน หรือแม้แต่มองตามันก็ไม่ได้ คนส่วนคน หมาส่วนหมา  แต่สมัยนี้หลายวัดก็นิยมเลี้ยงหมา เลี้ยงแมว เลี้ยงไก่ พระอยู่วัดไม่มีเพื่อนก็เอาหมาเอาแมวเป็นเพื่อน กินอารมณ์กรรมฐานไม่เป็น ก็เลยเอาหมามาเลี้ยง แล้วก็กินหมาเป็นอารมณ์ ท่านใช้คำว่า พระกินหมา  พอโยมไปกราบพระ ก็ไม่รู้ว่ากราบถูกพระหรือกราบถูกหมากันแน่ มันดูงามไหมล่ะ
         เรื่องของเรื่องคือมีวันหนึ่งในช่วงต้นฤดูพรรษา...มีโยมคนหนึ่งมาถวายอาหารที่วัดเกือบทุกวัน (ปกติจะใส่บาตรหน้าบ้านเป็นประจำ ไม่ค่อยได้มาวัด) เขาก็นำหมามาด้วย ไอ้เจ้าหมามันก็คงคุ้นเคยกับการใกล้ชิดเจ้านาย มันก็เลยเข้ามานอนในบริเวณศาลา(กุฏิหลวงพ่อ)ที่เขากำลังจัดอาหารรอถวายพระอยู่ วันนั้นหลวงพ่อไม่อยู่ เราก็เลยบอกโยมคนนั้นว่าให้ไล่มันออกไป หลวงพ่อไม่ให้หมาเข้ามาในศาลา  เขาก็พูดกับหมาว่า ออกไปข้างนอก..ไป สักสองสามครั้ง หมามันก็เฉย แล้วเขาก็หันมาบอกเราว่าไล่มันแล้วมันไม่ไป เราก็เลยบอกว่าหมามันฟังภาษาคนไม่รู้เรื่องหรอก ก็ต้องไล่มันด้วยวิธีอื่นซิ เช่น ตีมันเบาๆ ให้มันรู้ว่าไม่ควรทำอย่างนี้  เขาก็ตอบว่า สงสารมัน ไม่อยากตีมัน ให้มันนอนอยู่นี่แหละ เราก็เลยบอกว่า แล้วไม่สงสารพระเหรอ ที่ต้องกวาดถูศาลาที่หมามันเข้ามาทำสกปรก เขาก็เลยอึ้งไปพักหนึ่ง  โยมคนอื่นก็เลยร้องไล่หมาและทำท่ายกมือยกไม้เหมือนจะตีมัน มันก็เลยออกไป
         หลังจากวันนั้น โยมคนนี้ก็ไม่มาถวายอาหารที่วัดอีก (ยกเว้นเป็นวันที่มีกิจกรรมพิเศษ) แต่เขาก็ยังใส่บาตรหน้าบ้านเป็นปกติ  นี่คือ รักหมามาก จนยอมลดระดับการทำกุศลให้ต่ำลง  การใส่บาตรหน้าบ้านมันมีคุณค่าไม่เท่ากับการมาวัดหรอก เพราะมาวัดนอกจากได้เสียสละอาหารแล้ว ก็ได้เสียสละเวลา(ที่ปกติเห็นแก่ตัว) และยังจะได้ฟังเทศน์ฟังธรรม อานิสงส์มันต่างกันมากเหลือประมาณ  แต่เขาก็ เลือกให้ความสำคัญกับหมา มากกว่าการมาวัด ขยายความออกไป หลายคนก็คงเป็นอย่างนี้ เพียงแต่เป็นเรื่องอื่นๆ ไม่ใช่เรื่องหมา
         นี่จะชวนให้คิดว่า คนเรา..บางที ความรัก ความสงสาร มันก็บดบังเหตุผล บดบังสติปัญญา นี่ขนาดแค่หมา แล้วถ้าเป็นลูกหรือคนที่เรารักมากๆ มันจะสักแค่ไหน ก็อาจจะตามใจกันจนเสียคน หรือหาอะไรๆ มาปรนเปรอกันจนยิ่งลุ่มหลงกันไปมากมาย
         หมามันก็เป็นหมา มันก็ดำเนินชีวิตไปด้วยความหลงตามวิสัยของสัตว์เดรัจฉาน มีหลายคนก็คิดว่าหมามันดีมันรู้จักกตัญญู ถ้ามองมุมเดียวก็ใช่  แต่ลองมองให้มันกว้างๆ ออกไปแล้วจะเห็นรายละเอียดอื่นอีกมากมาย  หมามันกตัญญูเพราะเจ้าของเลี้ยงมัน มันก็รักแต่เจ้าของมัน ความรักนั่นแหละคือความหลง มันพร้อมจะทำร้ายคนอื่นเพื่อปกป้องเจ้าของมัน เจ้านายมันสั่งให้ทำอะไรมันก็จะทำตามแบบไม่มีสติปัญญา  มันแยกแยะไม่ออกว่าสิ่งไหนคือคุณธรรม สิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ  มันได้แต่ทำตามนิสัยหรือตามสัญชาตญาณแห่งความเป็นสัตว์ชนิดที่เรียกว่าหมา หมาแทบทุกตัวก็มีนิสัยเป็นแบบนี้ เพราะ มันได้เกิดมาเป็นหมา มันจึงได้รับคุณลักษณะอย่างนี้
         ลองเปรียบเทียบเข้ามาเรื่องของคนบ้าง คนหลายคนยอมทำชั่วหรือทำร้ายผู้อื่นเพื่อปกป้องคนที่ตนเองรัก หรือแสวงหาสิ่งต่างๆ มาให้คนที่ตนเองรัก ด้วยการกระทำอันทุจริต  แม้จะบอกว่าทำเพื่อบุคคลที่มีบุญคุณมหาศาลอย่างเช่น พ่อแม่ จนได้ชื่อว่าเป็นลูกกตัญญูก็ตามที  หรือพ่อแม่แสวงหามาให้ลูกของตนเอง  มองแบบลึกซึ้งแล้วมันเป็น ความติดข้อง เห็นแก่พรรคพวกของตัว เห็นแก่ตัว ไม่สนใจว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร  คนปุถุชนทั่วไปหรือสัตว์มันก็มีเหมือนๆ กันในสัญชาตญาณอันนี้  หมาก็หลงอย่างหมา คนก็หลงอย่างคน  มันจึงเป็นเหตุให้สัตว์ทั้งหลายเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จักจบจักสิ้น  เพราะฉะนั้น ความกตัญญู นี่เราจะมองเพียงแง่เดียวไม่ได้
         ถ้าพูดในแง่ศีลธรรมทั่วไป ความกตัญญู เป็นสิ่งที่น่าสรรเสริญและเป็นคุณธรรมอันดี แต่ ต้องประกอบด้วยความสุจริต เสมอ  ถ้ามนุษย์มีความกตัญญูแบบสุจริต ชาวโลกก็จะอยู่กันได้สงบสุขมากขึ้น (แต่อย่าลืมว่า สรรเสริญ มันก็ยังเป็นโลกธรรมครอบงำสัตว์โลก)  อย่างไรก็ตาม ที่สุดแล้วมันก็เป็นลักษณะของ ความติดข้อง เพราะเรายังไม่เข้าใจธรรมชาติเรื่องของ กายและจิต หรือ ชีวิต อย่างเพียงพอ เราจึงทำไปด้วยความติดข้อง ลุ่มหลง  ซึ่งชาวพุทธทั้งหลายก็คงทราบดีว่า พระพุทธเจ้าไม่ได้สรรเสริญความติดข้อง ความหลง ความโลภ ความโกรธ  พระองค์ตรัสรู้แล้วก็ชี้ให้เราเห็น และบอกวิธีที่จะไปในทางที่ เหนือโลกธรรม  เพราะตราบใดที่ยังเวียนว่ายตายเกิด มันก็ยังไม่จบเรื่อง มันก็วุ่นวาย ขัดข้อง เบียดเบียดผู้อื่นเพื่อให้ตนเองและพวกของตนอยู่รอด  หรือถ้าเราไม่ทำร้ายเขา เขาก็จะมาทำร้ายเรา  โลกมันก็เป็นอยู่อย่างนี้แหละ จะเกิดอีกกี่ครั้งมันก็เป็นอยู่อย่างนี้  ใครไม่เบื่อ..ก็หลงใหลอยู่กับโลกต่อไป  แล้วก็อย่ามาบ่น อย่ามาร้องโอดครวญ ว่า ฉันทุกข์..กูทุกข์.. เพราะมัน สาสมแล้ว ที่เกิดมา หรือพูดแบบสมัยนี้ก็ว่ามันเป็น แพ็คเกจ ที่ได้มาพร้อมกับการเกิด ไม่อยากได้ก็ต้องได้

17 พฤษภาคม 2554

สวดมนต์ด้วยกัน...แต่ก็ต่างคนต่างสวด

สวดมนต์ด้วยกัน...แต่ก็ต่างคนต่างสวด
The Chorus
         มีช่วงหนึ่งที่โยมจากต่างถิ่นและโยมจากหมู่บ้านใกล้ๆ วัด มารวมตัวกันฟังธรรมในวันพระ (และมีอีกบางครั้งที่มีพระหลายรูปมาร่วมกันทำวัตรเช้า-เย็น)  ซึ่งกิจกรรมแรกที่ทำร่วมกันก็คือการสวดมนต์ ถ้าไม่คิดอะไรมาก การสวดมนต์ก็แค่หยิบหนังสือขึ้นมาแล้วก็สวดกันไป มันก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าสังเกตดูแบบละเอียดมันไม่เป็นอย่างนั้นซิ  ต่างคนก็ต่างมา ต่างคนก็ต่างสังคมวัด พอมาสวดด้วยกันมันก็เสียงไปคนละทางซิ เสียงสูง-ต่ำต่างกัน จังหวะช้า-เร็วไม่เท่ากันอีก  พอเราสังเกตดูแล้วมันก็ออกมาไม่น่าฟัง  จนบางทีหลวงพ่อก็เอ็ดเอาบ้าง
         แค่กิจกรรมธรรมดาๆ อย่างการสวดมนต์ มันก็สะท้อนให้เห็น อัตตา ได้เหมือนกัน  แล้วแต่ว่าใครจะสังเกตเห็นหรือไม่ ยกตัวอย่าง เช่น
         บางคน.. สวดเสียงดังฟังชัดกว่าคนอื่น แบบไม่สนใจใคร คนอื่นจะสวดแบบไหน ยังไง ฉันไม่สน ฉันไม่ยอมปรับเสียงปรับจังหวะอะไรทั้งนั้น ฉันจะสวดของฉันแบบที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เพราะคิดว่าฉันสวดเพราะดีแล้ว จังหวะจะโคนเหมาะสมน่าฟังกว่าพวกคุณทั้งหลาย  ชนิดที่ว่า ฉันดีกว่า พวกคุณต้องปรับเสียงให้มันมาสอดคล้องกับฉัน นี่คือทำด้วยความหยิ่ง หรือแสดงถึง มานะทิฏฐิ
         บางคน.. ก็เปิดหนังสืออ่านสวด ตั้งใจอ่านตามทุกตัวอักษรเลย จนไม่เงี่ยหูฟังเสียงคนอื่นสวด สมาธิดีเลิศ  ตั้งหน้าตั้งตาอ่านสวดเฉพาะตน  ใครจะสวดเสียงสูงเสียงต่ำยังไง ฉันไม่รู้ ไม่ได้ยิน เขาจะสวดช้าหรือเร็ว ฉันไม่สน  นี่คือทำด้วย ความหลง ไม่ลืมหูลืมตา
         ปกติเวลาสวดมนต์ แต่ละแห่งแต่ละวัดเขาจะมีคนนำสวด อาจจะเป็นพระหรือโยมก็ตาม  คนที่มาร่วมกันสวดก็ต้องฟังเสียงของผู้นำ ท่านจะนำสวดด้วยเสียงเล็กแหลมหรือเสียงทุ้ม (คีย์สูง หรือคีย์ต่ำ) สวดช้าหรือเร็ว  ก็ต้องสังเกตไปด้วยในขณะสวด  ปากก็สวด หูก็ฟัง ตาก็ดูตัวหนังสือไป แล้วก็พยายามปรับให้สอดคล้องกับเสียงผู้นำสวด นี่จึงจะเรียกว่า สวดมนต์แบบมี สติปัญญา (ในระดับหนึ่ง)
         นอกจากนี้ การสวดมนต์ก็สามารถทำให้เป็นการเจริญสติปัญญาขั้นละเอียดได้ด้วย เช่น ให้สติสัมปชัญญะ รู้อยู่ที่ริมฝีปากขณะขยับขึ้นลง  ดูเข้าไปที่นั่น  สติสัมปชัญญะมันก็จะไม่เผลอไปฟุ้งซ่านเรื่องอื่น  ไม่ใช่ว่าปากสวดไปแต่ปล่อยให้ใจคิดเรื่องอื่นไปเรื่อย เดี๋ยวก็เรื่องนั้น เดี๋ยวก็เรื่องนี้ จนสวดผิดบ้างถูกบ้าง  บางทีเผลอหลุดปากพูดคำอื่น(ตามที่ตัวเองกำลังคิดอยู่)ออกมาแทนบทสวด  ถ้าสังเกตดูโดยละเอียด จะเห็นได้ว่าการขยับปากขึ้นลง มันถูกผลักดันจากความคิด(สังขารขันธ์) และความจำ(สัญญาขันธ์)  มันต้องคิดถึงคำนั้นก่อน(ที่เคยจำไว้) แล้วค่อยขยับปากสวดออกมา  ฉะนั้น ถ้าหากเราคิดเรื่องอะไรอยู่ แล้วเรื่องนั้นมันก็มีกำลังมาก (เราให้ความสำคัญมันมาก) มันก็จะผลักดันให้พูดเป็นคำนั้นๆ ออกมาได้ในขณะสวด (เช่น ชื่อคน สิ่งของ หรือบทสวดบทอื่น ฯลฯ)
         บางทีขณะสวดไปมันก็ นึกไม่ออก ว่าท่อนต่อไปจะสวดว่าอะไร  ทั้งๆ ที่ปกติก็จำได้ แต่ขณะนั้นมันนึกไม่ทัน  หรือบางทีก็สวดผิดท่อนไปเลย  นั่นล่ะคือ สัญญาไม่เที่ยง (สัญญา อนิจจา)  เรื่องอื่นทั่วไปก็เช่นเดียวกัน แม้เราจะจำไว้แล้ว แต่บางคราวมันก็ลืม บางคราวมันก็นึกได้  มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น  เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย 
         เวลาเราสวดมนต์เราก็สังเกตดูอย่างนี้ ก็คือศึกษาการทำงานของกาย เราจะเห็นว่ากายมันเคลื่อนไหวไปกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็เพราะถูกผลักดันจากความคิด(สังขารขันธ์)  ซึ่งกลไกนี้มันดำเนินอยู่ตลอดเวลาที่เรายังตื่นอยู่  หรือแม้แต่ตอนนอนหลับ(ไม่ใช่หลับสนิท) สังขารขันธ์มันก็คิดปรุงแต่งทำให้เราเกิดอาการที่เรียกว่าความฝัน  บางทีเรื่องที่กำลังฝัน(กำลังคิด)นั้นมันมีกำลังมาก มันก็ผลักดันร่างกายให้ขยับในขณะนั้นเลย เช่น ละเมอลุกเดิน ยกมือ ยกขา อ้าปากพูดหรือตะโกนออกมา ฯลฯ  ยกเว้นขณะหลับสนิทเท่านั้นจึงไม่เกิดความคิดปรุงแต่ง  แล้วใครจะห้ามกลไกความคิดปรุงแต่งนี้ได้ จะห้ามไม่ให้คิด ใครห้ามได้บ้าง  ก็คนตายเท่านั้นแหละที่ไม่คิด เพราะร่างกายคนตายมันมีแค่รูปขันธ์ มันไม่มีนามขันธ์  (ที่ว่ามานี้ไม่รวมถึง ร่างกายเคลื่อนไหวด้วยเหตุเพราะลมหรือแรงผลักจากภายนอก)
         ดังนั้น เราจึงมาศึกษาธรรมะก็เพื่อให้เข้าใจกลไกของชีวิต และยอมรับตามนั้นอย่างบริสุทธิ์  สิ่งต่างๆ ที่ธรรมชาติให้มามันก็ยังคงดำเนินไปอย่างนั้น  ขันธ์ห้าหรือกายกับใจมันก็ทำงานต่อไปตามหน้าที่  ไม่ใช่ว่าจะไปตัดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งทิ้ง  เพราะ คนยังไม่ตายมันต้องมีขันธ์ห้าครบอยู่ทุกคน
         ที่กล่าวมานี้ไม่รวมพวกที่สวดบทสวดที่เขาแต่งขึ้นสำหรับพวก ขี้โลภ หรือ ขี้โง่ เช่น สวดเพื่ออยากให้อายุยืน อยากให้หายป่วย สวดเรียกโชคลาภ  สวดสะเดาะเคราะห์  สวดไล่ผี ฯลฯ  วิธีการสวดแบบนี้มันเป็นมาตั้งแต่โบราณยุคก่อนมีพระพุทธเจ้า แต่หลายคนก็นิยมยกย่องให้เกียรติเชื่อถือเอาจริงเอาจัง  มันแสดงให้เห็นว่าห่างไกลพระพุทธเจ้ามาเพียงใด  ถ้าบทสวดเหล่านั้นมันมีอานุภาพแน่นอนเหมือนกับกินน้ำตาลแล้วต้องหวานแน่ๆ อันนี้ค่อยถือว่าสมเหตุสมผล  ใครสวดก็ต้องได้รับผลเหมือนกันทุกคน  นั่นจึงสมควรจะเชื่อถือเพราะเป็นของจริง  แต่นี่มันก็มีได้บ้างไม่ได้บ้าง  ไอ้ที่ได้มาก็ไม่รู้ว่าได้มาเพราะสวดมนต์บทนั้นจริงหรือเปล่า  แต่สรุปแล้วการที่ยอมมาสวดมนต์ก็เพราะ โลภอยากได้ หรือ หลงคิดว่าจะได้  ถ้าบอกให้สวดโดยไม่เอาอะไรมาล่อ ก็คงไม่สวด  ประเทศอินเดียเขาสวดกันมากมาย บวงสรวงสารพัดเจ้าพ่อเจ้าแม่ แล้วเขามั่งมีศรีสุขขึ้นมาได้เพราะการสวดไหมล่ะ ก็เห็นยังอดอยากยากจนกันค่อนประเทศ 
         อย่างน้อยที่สุด การสวดมนต์ควรตั้งเจตนาไว้ว่า จะสวดเพื่อจะ เจริญปัญญา คือได้มีโอกาสทบทวน ทำความเข้าใจในบทที่สวด แล้วก็ขบคิดพิจารณาตามนั้นไป สวดบ่อยๆ มันก็จำได้ขึ้นใจ แล้วก็นำไปใช้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  การศึกษาหลักธรรมะก็เหมือนเป็นการศึกษาวิชาความรู้อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้สอนกันในโรงเรียนหรือมหาลัย  แต่วิชาความรู้นี้ถือว่าก็เป็น วิชาชีพ เพราะเราสามารถใช้ในการดำรงชีพ ถ้าใช้แล้วก็จะดำรงชีพให้เป็นอยู่เป็นไปได้ด้วยดี มีความรู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง บำบัดทุกข์ได้จากภายใน ไม่ใช่ว่าจะไปคอยอาศัยแต่สิ่งภายนอกมาช่วยบำบัดทุกข์
         นี่คือเรื่องง่ายๆ แค่การสวดมนต์  ถ้าจะทำให้มันเป็นการปฏิบัติธรรมแบบละเอียดก็สามารถทำได้  สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นอันชอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิจะปฏิบัติมากแค่ไหนมันก็ไม่ถูก มันก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีการปฏิบัติอะไรกันมากมายอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่นั่นก็ไม่เรียกว่าปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์ มันเป็นแค่การปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตัวเองเท่านั้น

มีอะไรซ่อนไว้ใน...การกราบ

มีอะไรซ่อนไว้ใน...การกราบ
Seniority

         วันหนึ่ง..มีโยมมาสนทนาด้วยในช่วงที่ข้าพเจ้ากำลังฉันน้ำปานะ เขาถามข้าพเจ้าว่า มารยาทในการกราบของพระสงฆ์มีอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าก็บอกคร่าวๆ ไปว่า สำหรับพระสงฆ์ด้วยกัน ในกติกาสงฆ์กำหนดไว้ว่าให้ความเคารพกันตาม อาวุโส-ภันเต คือผู้อ่อนกว่าก็แสดงความเคารพหรือกราบผู้ที่แก่กว่า โดยนับกันตามอายุการบวช (อายุพรรษา) ดูว่าใครบวชก่อน-หลัง (ไม่ใช่นับตามอายุบัตรประชาชน)
          โยมเขาก็ถามต่อไปอีกว่า แล้วถ้าพระที่อ่อนกว่า(ทั้งอายุจริงและอายุพรรษา) แต่มีตำแหน่งเป็นถึงท่านเจ้าคณะฯ ท่านเจ้าคุณฯ หรือดีกรีอื่นที่สูงกว่า  ได้พบกับพระธรรมดาๆ ซึ่งมีพรรษาแก่กว่า จะทำความเคารพกันอย่างไร  เขาเคยสัมผัสสถานการณ์ทำนองนี้ เห็นว่าต่างคนก็ต่างชะงัก เพราะไม่รู้ว่าใครจะกราบใคร  แล้วยิ่งถ้าหากเป็นพระหลวงตาแก่ๆ แบบ โนเนม แต่มีพรรษามากกว่าท่านเจ้าคุณ  แหม..ยิ่งจะลำบากใจกันไปใหญ่เลย
         เออ..น่าคิด (ช่างถามมาได้) ตอบสั้นๆ ก็คือ สมัยพุทธกาล ไม่มีเจ้าคุณฯ ไม่มีเจ้าคณะฯ  มีแต่อาวุโส-ภันเต  ถือเอามารยาทตามนี้ก็จบเรื่องได้
         การกราบไหว้เป็นกิริยาท่าทางภายนอก ที่กระทำเพี่อแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพ  ถ้าข้อตกลงร่วมกันกำหนดว่าใครควรเคารพ ก็ให้กราบไหว้ผู้นั้น เช่น พระบวชใหม่ควรเคารพพระบวชก่อน  หรือถ้าเป็นในแง่ของชาวบ้านทั่วไป ค่านิยมเขาก็ยกให้คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ยศสูงกว่า รวยกว่า มีอิทธิพลกว่า อายุมากกว่า หรืออื่นๆ แล้วแต่จะคิดกันเอาว่าควรเคารพ ชาวบ้านเขาก็กราบไว้ บางทีก็ยกมือไหว้ผู้ที่อายุน้อยกว่า เช่น คนแก่ยกมือไหว้คุณครู ไหว้คุณหมอ ไหว้คุณตำรวจ รุ่นลูกรุ่นหลาน  มันก็แล้วแต่กรณีไป (ขนาดต้นไม้ผูกด้วยผ้าสีต่างๆ ชาวบ้านเขายังกราบไหว้เลย ลองถ้าใครบอกว่าทำให้เขารวยได้ เขากราบไหว้เลยแหละ)
         อย่างไรก็ตาม การอ่อนน้อมก็เป็นมารยาทอันดี  ควรอ่อนน้อมไว้ดีกว่าแข็งกระด้าง  ถ้าจะว่ากันในแง่ภาษาธรรมก็คือ เมื่อเราแสดงความอ่อนน้อมต่อใครก็ตาม มันเป็นการช่วยทำลายอัตตาในรูปแบบความหยิ่งทะนงตน  ยิ่งเราอายุมากกว่าแต่สามารถยกมือไหว้คนที่อายุน้อยกว่าได้ เพราะเห็นว่าเขามีคุณธรรมควรแต่การแสดงความเคารพอ่อนน้อม ก็ยิ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีปัญญา (แต่ไม่ใช่ทำไปแบบหลงๆ ตามเขา หรือหวังผลอะไรตอบแทน)  โดยต้องดูที่ เจตนาภายในใจ ว่าคิดอย่างไรจึงกระทำลงไป รู้สึกอ่อนน้อมจากใจจริงๆ หรือเปล่า
         อาจมีบางคน คิดว่า ตัวเองบรรลุเป็นอริยบุคคลแล้ว แหม...จะกราบใครก็ต้องเลือกสักหน่อย จะให้กราบปุถุชนคนธรรมดานี่มันทำไม่ลง เพราะเรามีคุณธรรมสูงกว่า หรือถ้าเราไปกราบเขาเดี๋ยวเขาจะได้รับโทษภัย เขาจะบาปเพราะเราไปกราบเขา  เราก็เลยกราบใครยากเหลือเกิน  มันก้มหัวลำบาก  เพราะอัตตามันตัวใหญ่ขึ้น หรือเปล่า?  คนที่หมดตัวตน หมดอัตตา และอ่อนน้อมที่สุดก็คือพระอรหันต์  ทีนี้มันก็น่าคิดตรงที่ว่า..ถ้าเราเป็นอริยบุคคลแล้วแต่กราบคนอื่นยาก อย่างนี้มันสอดคล้องกันหรือเปล่า?
         หรือบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว มีโยมมากราบ หรือมีพระที่อ่อนกว่ามากราบ ขณะรับกราบเรารู้สึกอย่างไร สิ่งนี้น่าคิดน่าสังเกต  ขณะนั้นมันเกิดความคิดว่า ตัวเองเหนือกว่าเขา ดีกว่าเขา สูงส่งกว่าเขา หรือเปล่า  นี่จะเห็นได้ว่า..การถูกคนอื่นกราบนี่มันก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ น่ะ  ถ้าขาดสติปัญญามันก็จะยิ่งพอกพูนความหลงตัวเองให้หนาขึ้นไปอีก
         แม้ชาวบ้านทั่วไปก็เช่นกัน เวลาที่ยกมือไหว้หรือกราบใคร หรือรับไหว้รับกลาบ ถ้าหากรู้จักสังเกตดูและตามทันความคิดของตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าเรากระทำสิ่งนั้นลงไปเพราะอะไร  มี ความคิด อะไรผลักดันให้ร่างกายเรากระทำไปแบบนั้น ทำไปแบบเย่อหยิ่งหรืออ่อนน้อม  ความสัมพันธ์ระหว่างกายและใจจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก  แต่ถ้าจะพูดไปลึกกว่านี้มันก็มากมาย  ขอสรุปเอาไว้ตรงที่คำว่า ปัจจัตตัง รู้เฉพาะส่วนตัวก็แล้วกัน

พูดได้..แต่เป็นได้หรือเปล่า

พูดได้..แต่เป็นได้หรือเปล่า... ?
I Will Show You

         มีอยู่วันหนึ่ง หลังจากฉันจังหันเสร็จแล้ว ข้าพเจ้าก็กวาดตาดอยู่ที่ลานธรรม  มีชายแก่คนหนึ่งเดินมาหา แล้วก็ได้สนทนากัน  เขาบอกว่าตัวเขาสนใจและศึกษาธรรมะมาพอสมควร แล้วเขาก็แนะนำข้าพเจ้าว่า ให้พยายามศึกษาต่อไปเดี๋ยวก็จะรู้จะเข้าใจ  เขาเล่าว่า..ครั้งหนึ่งเขาสนทนากับอาจารย์ของเขา อาจารย์ของเขาถามว่า..ทางสายกลางคืออย่างไร  เขาก็แสดงท่าทางให้ดูว่าตอนนั้นเขาตอบอาจารย์ว่าอย่างไร  โดยเขายืนตรงๆ แล้วก้าวขาซ้ายไปทางด้านซ้ายหนึ่งก้าว และก้าวขาขวาตามไปชิดกัน แล้วยืนนิ่งอยู่  จากนั้นก็ขยับก้าวกลับมายืนที่จุดเดิม  สักครู่หนึ่ง...ก็เริ่มใหม่อีกครั้ง  โดยก้าวขาขวาไปทางด้านขวาหนึ่งก้าว และก้าวขาซ้ายตามไปชิดกัน แล้วยืนนิ่งอยู่  จากนั้นก็ขยับก้าวกลับมายืนที่จุดเดิมอีก  แล้วเขาก็พูดว่า นี่แหละคือทางสายกลาง  อาจารย์ของเขาก็ไม่พูดอะไร  เขาก็ว่าอาจารย์พอใจกับคำตอบของเขา      
         จากนั้นเขาอธิบายให้ฟังต่อไปว่า  ร่างกายของเรานี้เป็นแค่ธาตุสี่ เป็นแค่รูปขันธ์ ไม่มีอะไรเป็นตัวเรา เป็นของเราหรอก อย่าไปยึดไปถือมันเลย  ในขณะที่เขากำลังพูดอยู่..สายตาของข้าพเจ้าก็ไปสะดุดเข้ากับพระเครื่องที่เขาห้อยไว้ที่คอ (ขนาดใหญ่เท่ากับนิ้วชี้ นิ้วกลาง นิ้วนาง เรียงติดกัน)  ความคิดจึงเกิดขึ้นมาว่า อ้าว..ถ้าร่างกายเป็นสักแต่ว่ารูปขันธ์ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา แล้วยังจะไปกลัวอะไรอีก?  ทำไมต้องดินก้อนใหญ่ขนาดนั้นมาคล้องคอให้มันหนัก  หลังจากที่เขากลับไป ข้าพเจ้าก็คิดคำอุทานเป็นโคลงขึ้นได้ว่า...
                   คุยเรื่องธรรม  ที่จำมา  นั้นค่าน้อย
                   ดีแต่คอย  ฟุ้งอวดไป  ไม่รับเข้า
                   พูดลึกซึ้ง  คิดเข้าใจ  ทุกเรื่องราว
                   แต่ยังเอา  พระแขวนคอ  ก็ฟ้องตัว

         ต่อมาถัดจากนั้นไม่นาน มีวันหนึ่งหลวงพ่อก็ได้เล่าให้ฟังว่า ได้มีโอกาสนั่งรถไปกับชายแก่คนนั้น (เขามาอาสาขับรถพาไปทำธุระเป็นครั้งคราว) ท่านบอกเห็นท้ายรถเขามีขวานด้ามใหญ่ๆ  หลวงพ่อก็เลยถามไปว่าเอาไว้ทำอะไร  เขาตอบว่าเอาไว้ ป้องกันตัว ในเวลาขับรถไปไหนมาไหน อีกอย่างเขาก็เคยมีเรื่องกับคนอื่นมาก่อน จึงได้ย้ายหนีมาอยู่แถวนี้
          รสชาติของธรรมะแท้จริงนั้นไม่ใช่ของง่าย ถ้ารู้ธรรมะแล้วมันก็ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เคยโง่ๆ ด้วย  นั่นจึงจะเรียกว่ารู้ธรรมเห็นธรรมเป็นธรรมจริงๆ  มันไม่ใช่แค่เรียนจำมาท่องมาแล้วอธิบายได้คล่อง  เปรียบเหมือนคนรู้ทฤษฎีเรื่องการว่ายน้ำ จะว่ายท่านั้น ท่านี้ ต้องยกแขนอย่างนั้น ตีขาอย่างนี้ แต่พอตัวเองตกน้ำจริงๆ แล้วก็ว่ายไม่เป็น
         คำอุทานอีกบทหนึ่งที่ได้แต่งขึ้นหลังจากนั้น ก็คือ...
                   มาวัดเพื่อ  ขายธรรมะ  ให้พระซื้อ
                   คิดว่าคือ  รู้ธรรมแท้  เผื่อแผ่เขา
                   หารู้ไม่  แค่ธรรมะ  ใบลานเปล่า
                   ถึงเอาไป  ขายนอกวัด  ยังขาดทุน

29 มีนาคม 2554

ลมออก...ก็เรียน

ผล..เป็นอะไรที่มากกว่าผลไม้

ความประทับใจครั้งแรก...แต่เป็นความโง่ครั้งที่ร้อย


ความประทับใจครั้งแรก...แต่เป็นความโง่ครั้งที่ร้อย
1st Impression & 100th Stupid

        สมัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นนักบวชท่านหนึ่งนั่งนิ่งๆ มีท่าทางสงบ ไม่วอกแวก ตัวตรง หลับตา ไม่แส่ส่ายไปมองที่ไหน กริยาเชื่องช้า พูดน้อย ดูสำรวม  ข้าพเจ้าจึงนึกชื่นชมและเลื่อมใสในท่านนั้นโดยทันที  แต่พอได้มีโอกาสพบกันหลายครั้ง ก็รู้สึกสะดุดสงสัยในบางสิ่ง แต่ก็ปล่อยผ่านไป ไม่ได้คิดว่าจำเป็นจะต้องหาคำตอบอะไร 
         หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านได้เล่าถึงนักบวชท่านนั้น ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร  จึงได้ทราบว่าก่อนที่ท่านจะมาบวชท่านประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนส่วนศีรษะ ทำให้สมองมีประสิทธิภาพลดลง พูด คิด และกระทำอะไรๆ ก็เชื่องช้ากว่าคนปกติทั่วไป  ข้าพเจ้าจึงได้มองเห็น ความงมงายของตัวเอง ที่มันโผล่แสดงตัวออกมาชัดๆ แต่เราก็ยังตาบอดมองไม่เห็น 
         เรามักจะตัดสินใจไปกับสิ่งที่เราเห็นด้วยนิสัยหรือความเคยชิน (เผลอ) แล้วก็มักเชื่อโดยที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อน  แม้กระทั่งความเลื่อมใสศรัทธา ก็เป็นเรื่องที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมาเอง ทำไมเราไม่มองสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ด้วยคำว่า มันก็เป็นอย่างนั้นเอง  โดยไม่ต้องไปตีค่าให้สูงหรือต่ำ บวกหรือลบ  ชอบหรือไม่ชอบ  ก็เพราะว่า สติปัญญาของเรามันน้อยไป เราไม่ค่อยได้ฝึกฝนเจริญอบรมให้มีความคิดความอ่านที่รอบคอบและเฉียบคม  เราถูกฝึกให้ต้อง "จำและเชื่อ" มาแต่ไหนแต่ไร  พอได้ยินได้เห็นอะไรมาก็พร้อมจะจำและเชื่อ เชื่อเอา..เชื่อเอา โดยทันที  เป็นอย่างที่พระอาจารย์ย้ำนักย้ำหนาว่า ทำไมจะต้องเชื่อ
         ถ้ามองแบบภายนอกไกลๆ ในแง่ของชาวโลกทั่วไป ความเชื่อ หรือความศรัทธา ก็มีส่วนช่วยลดความกระด้างของเราลงไปได้เป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่เราอาจได้มาเพิ่มทุกคราวด้วยเสมอก็คือ ความงมงาย อย่างกรณีที่ยกมากล่าวนี้   
       เรื่องนี้ไม่ใช่เจตนาจะไปสนใจที่ตัวนักบวชท่านนั้นว่าท่านดีหรือไม่ดี แต่มุ่งสนใจตรงที่ว่า เรามันโง่  การที่ท่านมาบวชก็มีส่วนดีในแง่ที่ว่า อย่างน้อยเวลาที่ชาวบ้านจะได้มีพระสงฆ์ครบตามจำนวนที่เขาอยากได้  เขาเชื่อกัน ว่างานมงคลต้องนิมนต์พระ ๕ รูปขึ้นไป หรือ สวดอภิธรรมในงานศพต้องนิมนต์พระ ๔ รูป เท่านั้น "เขาว่าจึงจะถูก" ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้มันไม่ถูก (มันผิดใคร? มันบาปหรือ? มันเป็นการกระทำที่ชั่วหรือ? อันนี้ขอให้คิด)  เมื่อชาวบ้านเขาได้พระครบตามจำนวนที่เขาต้องการ ก็ช่วยให้เขามีเหตุปัจจัยนำไปปรุงแต่งคิดสร้างเรื่องต่อไปได้ว่า ทำอย่างนี้แหละ จึงจะได้บุญมาก (คงเต็มรถบรรทุกสิบแปดล้อ)  ส่วนจะได้ความงมงายแถมหรือเปล่า?  มันเป็นเรื่องส่วนตัว ที่ผู้มีปัญญาจะนำไปขบคิดต่อเอง
            ลองคิดต่อไปซิว่า...เราเกิดความประทับใจเมื่อแรกพบ...บ่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะประทับใจต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของ สถานที่ คำพูด บทกวี บทเพลง ท่วงท่าลีลา ฯลฯ  ทำไม จังหวะแรก มันไม่ เกิดความคิด พิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน แล้ว จังหวะที่สอง มันจึงค่อย เกิดความประทับใจ (ถ้ามันสมควรจะประทับใจ) ???