ผล..เป็นอะไรที่มากกว่าผลไม้
Not Only Fruits
มีชาวบ้านอยู่ ๓ คน ได้รับต้นไม้ชนิดเดียวกันแล้วก็นำไปปลูก,
คนที่ ๑ ปลูกแล้ว...เขาก็นั่งยกมือไหว้อ้อนวอนว่า สาธุ..ขอให้ต้นไม้นี้ออกผลมาเป็นมะม่วงด้วยเถิด พอได้ผลออกมาเป็นมะม่วง ก็ดีใจ คิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเราแล้ว
คนที่ ๒ ปลูกแล้ว เขาก็นั่งยกมือไหว้อ้อนวอนว่า สาธุ..ขอให้ต้นไม้นี้ออกผลมาเป็นทุเรียนด้วยเถิด แต่พอได้ผลออกมาเป็นมะม่วง ก็ผิดหวัง คิดว่ามันคงเป็นเพราะผลกรรมเก่าแต่ชาติปางก่อน
ส่วนคนที่ ๓ ปลูกแล้ว ไม่อ้อนวอนขออะไร พอผลออกมาเป็นมะม่วง ก็นำมากิน “เท่านั้นเอง” เพราะรู้แล้วว่า “มันเป็นต้นมะม่วง”
ลองคิดต่อไปซิ...ว่าชาวบ้านคนไหนเป็นเหมือนใคร...???
แล้วถ้าจะถามต่อไปอีก อ้าว..ถ้าต้นไม้ไม่มีผล จะทำยังไง ? ก็ไม่ได้กิน “เท่านั้นเอง” อ้าว..ถ้าไม่ได้กินก็อดตายนะซิ ? ก็ตาย “เท่านั้นเอง” ถ้างั้นปลูกต้นไม้ก็ไม่ได้ผลอะไรซิ ? ต้นไม้ให้ผลอย่างเดียวงั้นหรือ.. ต้นไม้ให้ออกซิเจน ให้ความร่มรื่น หลบร้อน หลบพายุ ทำฟืนก่อไฟ ทำเป็นที่อยู่อาศัยของคน สัตว์อื่นก็อาศัยพึ่งพาต้นไม้ได้ โอ๊ย..สารพัดประโยชน์ สารพัดจะดี สารพัดจะเรียกว่าผล คุณก็คิดได้แค่ว่า “ผล” หมายถึง ลูกกลมๆ ที่เกิดจากต้นไม้ คุณก็หลงติดกับความหมายคำศัพท์อยู่นั่น นี่แค่คำง่ายๆ คำเดียว คุณยังไม่กระจ่างเลย... แล้วนับประสาอะไรกับคำศัพท์ภาษาธรรมะที่ลึกซึ้ง
หรือถ้าจะเปรียบเทียบย้อนเข้ามาหาความเป็นปุถุชนคนหนา ที่มักทำอะไรลงไปแล้วก็หวังอยากให้ผลมันเกิดเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ตัวอย่างก็เช่น ฉันทำงานเก่งสร้างผลประโยชน์ให้องค์กรมากมาย (ประหนึ่งว่าองค์กรนี้อยู่ได้ก็เพราะฉันคนเดียว) แต่ไม่เห็นได้เลื่อนตำแหน่งสักที หรือได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นนิดเดียว ส่วนคนไม่ทำงาน เอาแต่ประจบเสนอหน้า กลับได้เลื่อนตำแหน่ง นี่คือ “คนคิดสั้น” ถ้าคิดยาวๆ กว้างๆ ก็คิดต่อไปซิ ถ้าองค์กรนี้อยู่ได้เพราะคุณจริงๆ “มันดีไหมล่ะ” ถ้าองค์กรยังอยู่ ใครจะได้รับประโยชน์บ้าง คนหลายคนยังได้มีงานทำต่อไป ครอบครัวเขาเหล่านั้นก็ยังมีที่พึ่ง รัฐบาลยังได้ภาษี ภาษีก็เอาไปพัฒนาประเทศ โอ๊ย..สารพัดจะมีประโยชน์ สิ่งดีดีมันก็เกิดขึ้นมากมาย “หรือคุณว่าเหล่านี้มันไม่ใช่ดี” ส่วนไอ้คนประจบประแจงนี่มันจะไปได้สักกี่น้ำ “กาลเวลามันพิสูจน์คน” อยู่แล้ว
เมื่อหัวมันหมุนแล้วปัญญามันก็กระจายออกไปทั่ว จนไม่มีอะไรค้างคา ความลังเลสงสัยก็ค่อยๆ หมดไป เหมือนเรารู้จักตัวอักษร ก.ไก่ แล้ว เมื่อไปเจอที่ไหนก็อ่านได้เลยทันทีว่า ก.ไก่ ไม่เห็นต้องคอยตั้งท่าตั้งทางอะไรจึงจะอ่านออก หรือจะต้องกำหนดเข้าสมาธิเข้าฌานก่อนหรือจึงจะอ่านได้ ของมันรู้แล้วมันก็คือรู้โดยอัตโนมัติไม่ต้องคอยตั้งท่าคิดค้นหาอะไรอีก ถึงจะพูดออกเสียงหรือไม่พูด มันก็รู้อยู่แล้ว หรือแม้จะโกหกว่า..ฉันไม่รู้จักว่ามันคือ ก.ไก่ ถ้าจะพูดโกหกมันก็พูดได้ แต่ยังไงๆ ความจริงมันก็คือคุณรู้แล้วว่ามันอ่านว่า ก.ไก่ อยู่นั่นเอง “ธรรมะมันต้องตรง เป็นสัจจะอย่างนี้ โดยหน้าที่ของธรรมชาติ”
“นี่คือยกตัวอย่างวิธีการฟังหรือศึกษาภาษาธรรมะ” แล้วให้เปรียบเทียบ เทียบเคียง ขยายความออกไป ย้อนเข้ามา ให้หัวมันหมุน เป็นการลับคมปัญญาอยู่เสมอ ถ้าฟังเฉยๆ เอาแค่จำแล้วก็จบไป หัวไม่เดินคือหัวไม่ยอมคิดต่อไปเป็นการส่วนตัวโดยเฉพาะ มันก็ไปไม่ถึงไหนสักที “เดี๋ยวนี้หัวคนเรามันชอบเชื่อ เราจึงต้องฝึกให้หัวมันกลับมาชอบคิด” ถ้าจะตรัสรู้หรือรู้แจ้งมันก็ต้องอาศัย “ปัญญาที่เฉียบคมเพียงพอ” และลงมือ ณ สถานการณ์ “ปัจจุบันเฉพาะหน้า” ซึ่งก็มีให้เราเผชิญอยู่แล้วทุกขณะ แต่เราไม่เคยมองดู มองไม่เห็นเพราะยังไม่รู้จัก เราจึงมีแต่มองออกไปไกลตัวเสมอ แล้วก็ไปหลงจัดการกับเรื่องไกลตัว จน “ไม่สนเรื่องตัวเอง”
ศิษย์โง่คนนี้ก็เลยถึงบางอ้อ (อ๋อ)... เข้าใจแล้วว่าทำไมพระอาจารย์ต้องพูดด้วยภาษาธรรมะที่มันแปลกๆ ให้มันฟังยาก ถ้าเผลอไปนิดเดียว หรือฟังอยู่แล้วไม่ขบคิดตามไปติดๆ มันจะได้แค่ฟัง..แต่ยังไม่เกิดความเข้าใจ แล้วท่านก็ยังเน้นย้ำให้คิดมากๆ ไม่ต้องคอยจำคอยเชื่อตามสิ่งที่ได้ยิน
เปรียบเทียบต่อไปอีก คิดต่อไป ก็ว่า... ถ้ามี “กระบี่อยู่ที่ใจ ไม้ก็เป็นกระบี่” หรือ “กระบี่กับใจเป็นหนึ่งเดียว” (นึกได้ถึงสำนวนจากหนังจีนกำลังภายใน) มันก็ไม่ต้องคอยแบกหีบที่เต็มไปด้วยกระบี่ทั้ง 84,000 เล่ม ให้มันหนักเลย ลำพังแค่แบกร่างกาย แบกตัวตนไปมา วิ่งตามความอยาก นี่มันก็หนักหนาพอแรงแล้ว เมื่อไหร่จะล้มละลายไปซะที (จะได้หมดตัว)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น