21 มกราคม 2556

"ใครหลอกเรา" ว่าต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ ???


    สมัยเด็กตอนทีผมกำลังทำกิจกรรมบางอย่างอยู่แบบติดพัน พอได้เวลากินข้าว(เช้า-เที่ยง-เย็น) แม่ก็จะเรียกให้ไปหยุดแล้วไปกินข้าว ถ้าเราไม่หยุด ท่านก็เรียกแล้วเรียกอีกด้วยความเป็นห่วง "จนเกินเหตุ"  ผมเกิดความคิดขึ้นมาว่า ???  "ทำไมคนเราต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ  ใครเป็นคนกำหนด มนุษย์คนไหนเป็นแรกที่กำหนดว่าทุกคนต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ เขามีเหตุผลอะไร"  แต่ด้วยความเป็นเด็กแม้จะคิด แต่ก็ไม่ได้ถามใคร

     พอโตขึ้นมา ดูเหมือนเรื่องการกินจะเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นกว่าเดิม เพราะแต่ละวันมนุษย์ไม่ได้กินแค่วันละ 3 มื้อ เหมือนที่เราเข้าใจตอนเด็กๆ  "เราไม่ได้กินเพื่อดับความหิว" แต่เรากินตามสิ่งที่มาหลอกล่อ (เหยื่อ) เช่น ตามองเห็นสีสัน หูได้ยินเสียงคนเรียก(โฆษณา) จมูกได้กลิ่น ความคิดปรุงแต่งนึกถึงรสชาติ(ลิ้น)และกายสัมผัส(นิ่ม-กรอบ)เดิมทีเคยได้ลิ้มลอง

     ผลที่ตามมา คือ ปริมาณอาหารที่กินเข้าไปมันเกินความต้องการของร่างกาย ทำให้เกิดปัญหาสะสมขยะไว้ในร่างกาย เป็นเหตุให้เกิดโรคต่างๆ หรือเกิดความเสื่อมของร่างกาย (เติบโต แปลว่า ชรา, ชรา แปลว่า เสื่อม, เสื่อม ก็คือ อนิจจัง หรือ ทุกขัง นั่นเอง)

     เมื่อได้เริ่มสนใจหลักธรรมทางพุทธศาสนา จึงได้ทราบว่า พระภิกษุกินอาหาร(ฉัน)แค่มื้อเดียวท่านก็อยู่กันได้  พระบางรูปท่านเริ่มบวชตั้งแต่เป็นสามเณร จนเป็นพระอายุ 70-80 ปี ทำไมท่านมีชีวิตอยู่ได้ ก็พอๆกันกับชาวบ้านที่เขากินข้าววันละ 3 มื้อ

     ลองดูเถอะ ถ้าลดปริมาณกิจกรรมเกี่ยวกับการกินอาหารให้น้อยลง เราจะเห็นว่า ชีวิตมีเวลาว่างมากขึ้น ไม่ต้องดิ้นรนเพื่อแสวงหาอาหาร เช่น ไปจ่ายตลาด ขับรถไปซื้อ ฯลฯ ไม่ต้องเสียเวลาไปกับการหุงหาประกอบอาหาร  ไม่ต้องนัดมาสังสรรค์กินกันอย่างมอมเมา(บ้าคลั่งราวกับเปรตที่อดอยากมานาน)  เมื่อเรากินน้อยใช้น้อย ก็มีเหลือพอที่จะเอื้อเฟื้อคนอื่นที่ขาดแคลน ก็ไม่ต้องไปเบียดเบียนผู้อื่นสัตว์อื่น  และไม่ต้องดิ้นรนวิ่งตามความโลภจนเหนื่อยหอบอย่างทุกวันนี้
     ("รวย" มี 2 แบบ ได้แก่  1. รวยแบบล้นเหลือ คือ มีพอแจกจ่ายแบ่งปันให้ผู้อื่น,  2. รวยแบบหิวโหย ถึงมีมากก็ไม่คิดจะแบ่งปันใคร เพราะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่อิ่มไม่พอ มีสมบัติมากก็เพียงเอาไว้เชยชม แต่ไม่ได้ใช้  อุปมาก็เหมือนกับเปรต  ปากเท่ารูเข็ม แม้มีมากก็กินไม่ได้มาก  หิวโหยอยู่ร่ำไป  สำหรับคนที่นิยมความรวยในแบบที่ 2 นั้น ตอนนี้ก็ได้สร้างภพหน้าไว้แล้ว ก็คือ "เปรตวิสัย" คือที่หมาย)

     เราน่าจะเคยเห็น เวลาที่เขาฝึกสัตว์ เช่น สุนัข เขาก็ใช้อาหารเป็นเครื่องล่อหรือรางวัล   หรือเวลาที่พรานล่าสัตว์ เขาวางกับดัก เขาก็ใช้อาหารเป็นเครื่องล่อ(เหยื่อ) เมื่อสัตว์มากิน มันก็ติดกับดักนั้น (คงเคยเห็นเขาดักหนู ดักแมลงสาบ)
     ในขณะเดียวกัน  มนุษย์เราเองก็วิ่งเข้าหาอาหาร(เหยื่อ) จนลืมมองเห็นภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ (แบบลืมตาย)  ดังนั้น เมื่อพิจารณาโดยรากเหง้าแห่งสติปัญญา(ระดับจิต) เราอาจไม่ได้เหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน  เราเหนือกว่าเพียงด้าน "ร่างกาย" คือ มีสมอง และสรีระร่างกาย ที่ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า  ฉะนั้น  เมื่อระดับจิตหรือระดับสติปัญญาไม่แตกต่างกัน ก็ไม่แปลกอะไร...ที่จิตจะมีโอกาส "วนเวียนไปเกิด" ในอัตภาพร่างกายของสัตว์มนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉาน (หรือสัตว์ประเภทอื่นๆ) โดยเท่าเทียม
    สิ่งที่น่าสงสัย....  "ใครหลอกเรา" ว่ามนุษย์ต้องกินข้าววันละ 3 มื้อ ???   สัตว์บางประเภทไม่ได้กินบ่อยเท่ามนุษย์ เช่น เสือ สิงโต มันออกล่าเฉพาะเวลาหิว,   นก ออกหากินทุกเช้า ไม่เก็บสะสม  แต่สัตว์บางประเภทก็กินไม่หยุด กินจนกว่าท้องแตกก็มี เช่น ปลา (หรือ ชูชก ^-^)   คำตอบ ก็คือ "ธรรมชาติ" วางกับดับความเกิด(ชาติ)ไว้แบบนี้  ใครหลงพอใจก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป  ส่วนใครไม่พอใจก็ "เดินตามพระพุทธเจ้าออกไป"

   ปลาหน้าโง่  เห็นเหยื่อล่อ  ก็เต้นใส่
อ้างับไป  ได้เบ็ดมา  เกี่ยวปากหนอ
ต้องปวดแสบ  ดิ้นเร่าเร่า  น้ำตาคลอ
เมื่อไหร่หนอ  เขาจะมา  พาไปแกง
     ธรรมกำหนด  เหตุปัจจัย  ไว้อย่างนี้
ถ้าอยากหนี  จากวัฏฏะ  น่าแขยง
อย่ามีปลา  อย่ามีโง่  ให้ใครแกล้ง
ปล่อยเหยื่อแห้ง  เบ็ดกร่อนไป  ไม่ทุกข์เอย
(ปลา=อัตตา,  โง่=สีลัพพตปรามาส,  เหยื่อ=กามคุณ, เบ็ด=มิจฉาทิฏฐิ)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น