มีอะไรซ่อนไว้ใน...การกราบ
Seniority
วันหนึ่ง..มีโยมมาสนทนาด้วยในช่วงที่ข้าพเจ้ากำลังฉันน้ำปานะ เขาถามข้าพเจ้าว่า มารยาทในการกราบของพระสงฆ์มีอย่างไรบ้าง ข้าพเจ้าก็บอกคร่าวๆ ไปว่า สำหรับพระสงฆ์ด้วยกัน ในกติกาสงฆ์กำหนดไว้ว่าให้ความเคารพกันตาม “อาวุโส-ภันเต” คือผู้อ่อนกว่าก็แสดงความเคารพหรือกราบผู้ที่แก่กว่า โดยนับกันตามอายุการบวช (อายุพรรษา) ดูว่าใครบวชก่อน-หลัง (ไม่ใช่นับตามอายุบัตรประชาชน)
โยมเขาก็ถามต่อไปอีกว่า แล้วถ้าพระที่อ่อนกว่า(ทั้งอายุจริงและอายุพรรษา) แต่มีตำแหน่งเป็นถึงท่านเจ้าคณะฯ ท่านเจ้าคุณฯ หรือดีกรีอื่นที่สูงกว่า ได้พบกับพระธรรมดาๆ ซึ่งมีพรรษาแก่กว่า จะทำความเคารพกันอย่างไร เขาเคยสัมผัสสถานการณ์ทำนองนี้ เห็นว่าต่างคนก็ต่างชะงัก เพราะไม่รู้ว่าใครจะกราบใคร แล้วยิ่งถ้าหากเป็นพระหลวงตาแก่ๆ แบบ “โนเนม” แต่มีพรรษามากกว่าท่านเจ้าคุณ แหม..ยิ่งจะลำบากใจกันไปใหญ่เลย
เออ..น่าคิด (ช่างถามมาได้) ตอบสั้นๆ ก็คือ “สมัยพุทธกาล ไม่มีเจ้าคุณฯ ไม่มีเจ้าคณะฯ” มีแต่อาวุโส-ภันเต ถือเอามารยาทตามนี้ก็จบเรื่องได้
การกราบไหว้เป็นกิริยาท่าทางภายนอก ที่กระทำเพี่อแสดงความอ่อนน้อมต่อผู้ที่ควรเคารพ ถ้าข้อตกลงร่วมกันกำหนดว่าใครควรเคารพ ก็ให้กราบไหว้ผู้นั้น เช่น พระบวชใหม่ควรเคารพพระบวชก่อน หรือถ้าเป็นในแง่ของชาวบ้านทั่วไป ค่านิยมเขาก็ยกให้คนที่มีตำแหน่งสูงกว่า ยศสูงกว่า รวยกว่า มีอิทธิพลกว่า อายุมากกว่า หรืออื่นๆ แล้วแต่จะคิดกันเอาว่าควรเคารพ ชาวบ้านเขาก็กราบไว้ บางทีก็ยกมือไหว้ผู้ที่อายุน้อยกว่า เช่น คนแก่ยกมือไหว้คุณครู ไหว้คุณหมอ ไหว้คุณตำรวจ รุ่นลูกรุ่นหลาน มันก็แล้วแต่กรณีไป (ขนาดต้นไม้ผูกด้วยผ้าสีต่างๆ ชาวบ้านเขายังกราบไหว้เลย ลองถ้าใครบอกว่าทำให้เขารวยได้ เขากราบไหว้เลยแหละ)
อย่างไรก็ตาม การอ่อนน้อมก็เป็นมารยาทอันดี ควรอ่อนน้อมไว้ดีกว่าแข็งกระด้าง ถ้าจะว่ากันในแง่ภาษาธรรมก็คือ เมื่อเราแสดงความอ่อนน้อมต่อใครก็ตาม มันเป็นการช่วยทำลายอัตตาในรูปแบบความหยิ่งทะนงตน ยิ่งเราอายุมากกว่าแต่สามารถยกมือไหว้คนที่อายุน้อยกว่าได้ เพราะเห็นว่าเขามีคุณธรรมควรแต่การแสดงความเคารพอ่อนน้อม ก็ยิ่งแสดงถึงความเป็นผู้มีปัญญา (แต่ไม่ใช่ทำไปแบบหลงๆ ตามเขา หรือหวังผลอะไรตอบแทน) โดยต้องดูที่ “เจตนาภายในใจ” ว่าคิดอย่างไรจึงกระทำลงไป รู้สึกอ่อนน้อมจากใจจริงๆ หรือเปล่า
อาจมีบางคน “คิดว่า” ตัวเองบรรลุเป็นอริยบุคคลแล้ว แหม...จะกราบใครก็ต้องเลือกสักหน่อย จะให้กราบปุถุชนคนธรรมดานี่มันทำไม่ลง เพราะเรามีคุณธรรมสูงกว่า หรือถ้าเราไปกราบเขาเดี๋ยวเขาจะได้รับโทษภัย เขาจะบาปเพราะเราไปกราบเขา เราก็เลยกราบใครยากเหลือเกิน “มันก้มหัวลำบาก” เพราะอัตตามันตัวใหญ่ขึ้น หรือเปล่า? คนที่หมดตัวตน หมดอัตตา และอ่อนน้อมที่สุดก็คือพระอรหันต์ ทีนี้มันก็น่าคิดตรงที่ว่า..ถ้าเราเป็นอริยบุคคลแล้วแต่กราบคนอื่นยาก “อย่างนี้มันสอดคล้องกันหรือเปล่า?”
หรือบวชเป็นพระสงฆ์แล้ว มีโยมมากราบ หรือมีพระที่อ่อนกว่ามากราบ ขณะรับกราบเรารู้สึกอย่างไร สิ่งนี้น่าคิดน่าสังเกต ขณะนั้นมันเกิดความคิดว่า ตัวเองเหนือกว่าเขา ดีกว่าเขา สูงส่งกว่าเขา หรือเปล่า นี่จะเห็นได้ว่า..การถูกคนอื่นกราบนี่มันก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ น่ะ ถ้าขาดสติปัญญามันก็จะยิ่งพอกพูนความหลงตัวเองให้หนาขึ้นไปอีก
แม้ชาวบ้านทั่วไปก็เช่นกัน เวลาที่ยกมือไหว้หรือกราบใคร หรือรับไหว้รับกลาบ ถ้าหากรู้จักสังเกตดูและตามทันความคิดของตัวเอง เราจะเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าเรากระทำสิ่งนั้นลงไปเพราะอะไร มี “ความคิด” อะไรผลักดันให้ร่างกายเรากระทำไปแบบนั้น ทำไปแบบเย่อหยิ่งหรืออ่อนน้อม ความสัมพันธ์ระหว่างกายและใจจึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษามาก แต่ถ้าจะพูดไปลึกกว่านี้มันก็มากมาย ขอสรุปเอาไว้ตรงที่คำว่า “ปัจจัตตัง” รู้เฉพาะส่วนตัวก็แล้วกัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น