คำศัพท์ที่ได้ยินกันบ่อยในช่วงทศวรรษนี้ ก็คือคำว่า “คิดด้านบวก” หรือ “มองโลกในแง่ดี”
หรือ “Positive Thinking” ซึ่งก็เป็นกระแสมาจากทางซีกโลกตะวันตก คนที่คอยวิ่งตามกระแสตะวันตกก็มักหยิบยกมาพูด มาเขียนถึง
หรือเอามาใช้ ถ้าให้ลองนึกถึงสาเหตุว่า ทำไม..ต้องพยายามคิดด้านบวก? ก็น่าจะเกิดจากว่าถ้าคิดด้านลบแล้วมันเป็นทุกข์
หรือถ้าจะพูดอีกแบบหนึ่งให้มันตรงๆก็คือ “เกิดความทุกข์ใจแล้ว จึงหาทางออกหรือหาวิธีบำบัด”
นั่นก็คือ คิดด้านบวก หรือมองโลกในแง่ดี แล้วก็บำบัดความทุกข์ใจนั้นลงได้
ถ้าใคร่ครวญกันให้ละเอียด ทำไม..เราต้องคิดด้านบวกหรือมองโลกในแง่ดี
พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นทุกข์”
คำว่า “ทุกข์” จะหมายถึง “ทุกขัง”
ในไตรลักษณ์ก็ได้ (ตั้งอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้) หรือจะหมายถึง “ความทุกข์กายทุกข์ใจ”
ก็ได้ (คือเมื่อเราเผชิญกับความแก่-เจ็บ-ตาย ผิดหวัง พลัดพราก
เราก็จะรู้สึกเป็นทุกข์) ซึ่งคำสอนพระพุทธเจ้าดูจะสวนทางกับกระแสนิยมชาวโลก
(ไม่ได้บอกว่าสิ่งทั้งหลายเป็นสุข, ไม่ได้นำหลักธรรมมาเน้นส่งเสริมความสุขในชีวิตประจำวันเหมือนปัจจุบันนี้
อุปมาประหนึ่งว่าไฟกำลังไหม้ศีรษะ แต่ก็สอนกันให้ท่องบ่นว่า เย็นหนอ..เย็นหนอ
หรือสุขหนอ..สุขหนอ ไม่เดือดร้อนหนอ..ไม่เดือดร้อนหนอ
แทนที่จะรีบหาน้ำมาดับไฟ)
ผมไม่ได้บอกว่า
การมองโลกในแง่ดีนั้นเป็นการหลอกลวงหรือมองในด้านไม่เป็นจริง เพราะเขาก็มองตรงตามสิ่งที่ปรากฏ
เช่น เมื่อพ่อแม่ตาย เขาก็มองว่า เกิด-แก่-เจ็บ-ตาย เป็นเรื่องธรรมดา หรือเป็นเรื่องธรรมชาติ
ใครๆก็ต้องตาย ซึ่งมันก็จริงและตรงสัจธรรม
เมื่อคิดได้อย่างนี้เขาก็ไม่เป็นทุกข์ใจ, หรือเขาจะมองอีกแง่หนึ่งว่า ดีแล้วลูกๆจะได้แบ่งมรดกกัน
หรือดีแล้วลูกๆจะได้ไม่ต้องคอยพยาบาลกันให้เป็นภาระ ฯลฯ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการคิดด้านบวกได้ทั้งนั้น
เพราะมันบำบัดความทุกข์ใจได้จริงๆด้วย
แต่ถ้าเรามองโลกในแง่ดี
คำถามก็คือ..แล้วเมื่อไรเราจะเกิดความเบื่อหน่ายต่อโลก?(นิพพิทา)
ฉะนั้น จะเห็นว่ากระแสของคำนี้มันกำลังมีอิทธิพลให้ “มนุษย์กลบเกลื่อนความทุกข์” ถ้าเจ้าชายสิทธัตถะมองโลกในแง่ดี แล้วจะมีพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกไหม หรือเมื่อพระองค์ตรัสรู้ว่า “สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา
ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา”
แล้วทำไมต้องชี้แนะพร่ำสอนวิธีการปฏิบัติอันมากมาย เช่น ต้องถือศีล
ต้องเจริญสัมมาสติ เจริญสัมมาสมาธิ ต้องทำความเพียรให้มาก ฯลฯ ? (มันเหนื่อยและขัดใจเราจะตาย)
ก็เพราะว่า
สิ่งที่เป็นอยู่จริงนั้น อุปมาก็เหมือนกับ เราเห็นแล้วว่าเหรียญมี 2 ด้าน แต่เราไม่ชอบด้านหัว
เราก็เลยบอกให้ตัวเอง(ฝึก)มองเฉพาะด้านก้อย แล้วเราก็เกิดความสบายใจ แต่คำถามคือ..เราลืม(ว่าเหรียญมี 2 ด้าน)ได้จริงหรือเปล่า? ถึงเราจะพยายามหลอกตัวเองอย่างไร
ฝึกนานแค่ไหน แต่ความจริงก็คือ “เหรียญมี 2 ด้าน ไม่ใช่ด้านเดียว” และ “เรารู้ว่าเหรียญมี
2 ด้าน” ฉะนั้น ต้อง “มองโลกตามความจริงที่ปรากฏ”
ไม่จำเป็นต้องตัดสินว่า มันเป็นทุกข์หรือสุข บวกหรือลบ ดีหรือชั่ว Positive หรือ Negative ทุกอย่างเกิดขึ้นก็เพราะมีเหตุมีที่มา
(ผลเกิดจากเหตุ)
อย่างไรก็ดี
ถึงแม้เราจะทราบเหตุผลชัดเจนในสิ่งที่เกิดขึ้น
แต่เราก็ยังคงเกิดความรู้สึกทุกข์ใจอยู่เนืองๆ พอความทุกข์ใจเกิดขึ้นเราก็พยายามดับมัน
ซึ่งก็ดับได้ แต่มันดับได้แบบเป็นครั้งเป็นคราว
ดับทุกข์เรื่องนี้ไปแล้ว แต่ทุกข์เรื่องใหม่ก็เกิดอีก ก็วิ่งดับทุกข์กันอยู่เรื่อยไป
บ่อยเข้าก็ชาชินจนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา สภาพเช่นนี้ภาษาธรรมะเรียกว่า พอใจในภพ
(ภวตัณหา) ซึ่งเป็นเหตุนำไปสู่การเกิด (ชาติ)
ก็เป็นวัฏจักร วนเวียนไม่จบสิ้น
พระพุทธเจ้าได้ทดลองพิสูจน์ค้นคว้าโดยรอบคอบแล้ว
จึงสรุป “วิธีดับทุกข์แบบถาวร” แล้วนำมาบอกสอน นั่นคือ “มรรคองค์ ๘” เป็นหนทางที่จะ
“หยุดการเกิด”
ส่วนการดับทุกข์แบบชั่วคราวด้วยวิธีต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธเจ้า
ชาวโลกทั่วไปเขาก็คิดค้นมาสอนกันอยู่แล้วแต่ไหนแต่ไร เช่น ด้านร่างกาย ก็ผลิตวัตถุสิ่งของขึ้นมาช่วยอำนวยความสะดวก ด้านจิตใจ ก็สอนวิธีทำสมาธิ
(อย่างฤๅษีทั้งหลาย)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น