1 เมษายน 2554

ทุกเรื่องเกิดขึ้นเพื่อ...ให้เรียนรู้

ทุกเรื่องเกิดขึ้นเพื่อ...ให้เรียนรู้
All for Learn

            วันหนึ่งขณะที่นั่งอยู่บนอาสนะเพื่อรอฉันภัตตาหาร กลุ่มโยมชาวบ้านเขาก็คุยกันจอแจเกี่ยวกับเรื่องว่าวันนี้เด็กๆ ลูกเขาไม่ได้มาช่วยงานที่วัด (ช่วงนี้ปิดเทอม) เพราะว่าไปแก้ ร. ที่โรงเรียน แล้วก็สนทนากันไปด้วยอารมณ์ไม่พอใจที่ครูให้ลูกเขาติด ร.  เท่าที่จับใจความได้ก็คือ ลูกเขาบอกว่าครูสั่งงานแล้วนักเรียนในชั้นไม่ทำส่ง ครูก็เลยให้ติด ร. พร้อมกับบอกเหตุผลว่า พวกเธอโตแล้ว ทำไมต้องให้ครูมาคอยบอกบ่อยๆ ลูกเขาก็เล่าให้แม่ฟังว่า ก็ครูสั่งแค่ครั้งเดียว เพื่อนๆ ในชั้นก็ไม่มีใครทำ ก็เลยติด ร. กันทั้งชั้น นี่ถ้าเรื่องถึง ผอ. ครูคนนั้นโดนเล่นงานแน่ (เด็กแต่งเรื่องเองหรือเปล่าไม่ทราบ) ขณะสนทนากันไปก็ใส่อารมณ์ร่วมไปด้วยทั้งคนเล่าและคนฟังตามประสาชาวบ้าน  นัยว่าไม่พอใจที่ครูทำอย่างนั้น (แค่คำว่าติดศูนย์ กับติด ร. นี่แยกความแตกต่างออกหรือเปล่าก็ไม่รู้..ชาวบ้าน!)
            ข้าพเจ้าฟังแล้วกลับมองไปอีกอย่าง (อันนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องว่าใครถูกใครผิดในเรื่องดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นความคิดด้านภาษาธรรมะที่เกิดขึ้นในขณะนั้น) คนส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นตัวนักเรียนหรือผู้ปกครอง มักจะมองความหมายของคำว่า เรียน ในแง่ที่ไม่ตรงกับความหมายจริงๆ  คือหลายคนเข้าใจว่าไปเรียนเพื่อจะให้ได้..เกรดดีดี หรือเรียนให้ได้..ผ่านทุกวิชา หรือเรียนให้ได้..ใบประกาศ เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นสิ่งอ้างอิงรับประกันสถานะทางสังคม หรือจะใช้ทำอะไรต่อไปก็แล้วแต่  มีชาวบ้านบางคนถึงกับไปสอบแทนลูกที่เรียน กศน. เพื่ออยากให้ลูกได้ใบประกาศ (เพราะว่ารักลูกมาก) แต่ลูกตัวเองอายุสิบห้าแล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก (เพิ่งจะเคยได้ยินนี่แหละ)
            ทำไมเราจึงไม่มองว่าการ เรียน หรือไปเรียน ก็เพื่อให้มัน ได้รู้ ในสิ่งที่ยังไม่รู้ ถ้ารู้แล้วมันก็ไม่ต้องเรียน  และไม่ใช่ว่า..การไปเรียนในสถานศึกษาจะเป็นแค่การเรียนให้ได้ความรู้ทางวิชาการต่างๆ เท่านั้น  หลายปีที่เราอยู่ในสถานศึกษา เรายังได้เจอกับประสบการณ์ทางด้านสังคม หรือการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ รุ่นพี่กับรุ่นน้อง เพื่อนกับเพื่อน มารยาททางสังคม กฎกติกากับหน้าที่ของผู้อยู่ใต้กฎนั้น  ฯลฯ  แล้วเราสนใจเรียนสิ่งเหล่านี้ด้วยหรือเปล่า (ถ้าว่ากันโดยหลักธรรมชาติคือ ทุกคนได้เรียนโดยทันที ไม่ว่าคุณจะอยากเรียนหรือไม่อยากเรียน)  แล้วเรา คิด ว่าสิ่งเหล่านั้นคือ บทเรียน ด้วยหรือเปล่า
            ถ้าเรา คิด ว่าทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชีวิตเรา มันเป็นเพียงบทเรียนให้เราเรียนรู้ แล้วก็ฉวยโอกาสที่จะ ตั้งใจเรียน (ใช้สติปัญญาขบคิดทำความเข้าใจให้ลึกซึ้ง) เพื่อให้ได้รับความรู้ในแต่ละโอกาสให้มากที่สุด (จริงๆ โอกาสมีอยู่ตลอดเวลา ยกเว้นนอนหลับ)  อย่างในกรณีนี้..ถ้าเราคิดว่าการติด ร. มันคือบทเรียน เราก็เรียนซะ แล้วคิดหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงติด ร. ถ้ามันสมควรตามเหตุผลของกติกาที่ตั้งไว้ มันก็สมควร แล้ว ก็แก้ไขกันไปตามเรื่องตามวิธี แล้วก็จำไว้ในฐานะ บทเรียนแห่งความผิดพลาด เท่านี้มันก็ไม่มีอะไรต้องกังวลหรือวุ่นวายใจ  ในแง่ของผู้ปกครองก็เช่นกัน มองให้เห็นในแง่นี้บ้าง ก็จะไม่ต้องตีโพยตีพายอะไรไป  นี่มันแค่ในโรงเรียน  ผิดพลาดไปบ้างก็ไม่ได้มีผลเสียหายมากมาย  แต่ถ้าไปผิดพลาดในชีวิตตอนโตมันก็จะเสียหายยิ่งกว่านี้ ผู้ปกครองก็หัดทำตัวเป็นนักเรียนซะบ้าง
            ทุกสิ่ง และทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต คือสิ่งที่เรา ต้องได้เรียน  ถ้าเราเรียนมันอย่างมีสติปัญญา หรือมี สัญชาตญาณแห่งความเป็นนักเรียน เราก็จะ ได้รู้ อะไรๆ มากกว่าคนที่ไม่ตั้งใจเรียน หรือคนที่เผลอ หรือคนที่เหม่อลอยไปให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียน  แต่ต้องขอย้ำว่า การเรียนไม่ได้หมายความว่าให้คอยจำและคอยเชื่อ  การเรียนต้องประกอบด้วย การรับรู้ และการขบคิด (ขบคิดคือตั้งใจคิดด้วยเหตุผลสูงสุดเท่าที่สติปัญญาจะมีในขณะนั้น) ยังไม่ต้องเชื่ออะไรแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง  แต่ถ้าหากจำเป็นต้องกระทำการอะไรบางอย่าง ก็ทำไปเพราะได้ผ่านการคิดใคร่ครวญแล้ว  ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรก็ต้องยอมรับตามนั้น ก็เรียนมันซ้ำเข้าไป เรียน ๆ ๆ ๆ นั่นคือมีความ เป็นนักเรียนตลอดเวลา 
            แต่ถ้าเรามีความ เป็นตัวตน” (status) ที่คอยหวังอยากให้ผลออกมาเป็นดั่งใจของเรา พอได้ดั่งหวังก็ดีใจ แต่พอไม่ได้ดั่งหวังก็เสียใจ อารมณ์มันก็ขึ้นๆ ลงๆ ไปกับเหตุการณ์ต่างๆ อยู่ร่ำไป เดี๋ยวก็สุขใจ เดี๋ยวก็ทุกข์ใจ เช่น ตัวตนที่เป็นพ่อแม่ ก็อยากให้ลูกเป็นดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นเจ้านาย ก็อยากให้ลูกน้องเป็นดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นลูกน้อง ก็อยากให้เจ้านายเป็นดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นเพื่อน ก็อยากให้เพื่อนเป็นดั่งใจ,   ตัวตนที่เป็นคนรัก ก็อยากให้แฟนเป็นดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นประชาชนในระบอบประชาธิปไตย ก็อยากให้นักการเมืองเป็นดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นพ่อค้า ก็อยากให้ขายของได้ดั่งใจ,  ตัวตนที่เป็นนักกีฬา ก็อยากให้ตัวเองหรือทีมชนะเขาได้ดั่งใจ,  แม้กระทั่งตัวตนที่เกิดมาอยู่ภายใต้ธรรมชาติ ก็ยังอยากให้ธรรมชาติเป็นดั่งใจ ฯลฯ  มีแต่ อยากให้ได้ดั่งใจของตัวเองทั้งนั้น
            ทีนี้ถ้าหากเราทำความรู้สึกให้เหมือนกับ ตัวตนที่เป็นผู้เรียน มันก็ไม่มีอะไรจะต้องได้ดั่งใจ เพราะ ทุกอย่างมันเป็นแค่เรื่องให้เรียน ก็ทำหน้าที่เรียน ๆ ๆ มันก็ เท่านั้นเอง ทุกเรื่องมันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นของมันอย่างนั้นตามปกติ ไม่มีอะไรน่าแปลกใจ  แต่เราก็มักแปลกใจ ตื่นเต้น ตกใจ ไปกับอะไรบางอย่างที่เราไม่ทราบที่มาที่ไป  นั่นก็เป็นธรรมดาสำหรับคนทั่วไป  แต่ก็ให้ระลึกไว้ว่า..คำตอบที่จะช่วยอธิบายที่มาที่ไปของเรื่องที่เราไม่ทราบเหตุผล ก็คือ มันเป็นธรรมชาติให้มา เท่านั้นเอง
           
            แต่โลกแห่งการเรียนรู้นี้ก็แบ่งออกเป็น 2 ด้าน  คือ ด้านที่เรียนรู้เพื่อจะใช้ดำเนินชีวิตขณะอยู่บนโลกนี้  และ ด้านที่เรียนรู้เพื่อจะจบภพชาติอย่างถาวร
            สมัยที่ข้าพเจ้าออกบวชในปีแรก เมื่อได้สัมผัสกับวิถีชีวิตแห่งความเป็นสมณะ มันช่างรู้สึกโล่ง เบา สบาย ไร้กังวล ซะจนคิดว่า สุขหนอ สุขหนอ มันเป็นอย่างนี้หรือ?  คิดไปถึงว่า..ถ้าเราดำเนินชีวิตไปอย่างนี้..คือไม่หวั่นไหวไปกับใคร หรือให้ค่ากับเรื่องอะไรภายนอก มันก็คงไม่น่าจะมีอะไรเป็นห่วงอีก  แต่ หัวคิดมันก็ไม่ได้หยุดแค่นั้น มันคิดต่อไปว่า อ้าว..ถ้าคนในโลกนี้หลายคน เขารู้สึกพอใจกับชีวิตที่เขาเป็นอยู่ตอนนี้ เหมือนกับที่เราพอใจในขณะนี้ มันก็ไม่ต่างกันซิ  ตอนนี้เราพอใจเพราะมันไม่มีอะไรมาทำให้วุ่นวาย แต่ถ้ามันมีอะไรมาทำให้วุ่นวาย..เราจะยังพอใจอยู่อย่างนี้ไหม คำตอบก็คือ ไม่แน่ใจ  แล้วสถานการณ์จะยังมั่นคงเป็นอย่างนี้ตลอดไปหรือเปล่า คำตอบก็คือ ไม่ใช่  ทุกอย่างแปรปรวน และมีโอกาสจะเปลี่ยนไป ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้นข้างหน้า โดยเฉพาะสิ่งที่ต้องเจอแน่ๆ ก็คือ ความแก่ ความเจ็บป่วย และความตาย  ถ้าเราเจ็บป่วยหนักๆ..เราจะยังพอใจไหม  ถ้าเรากำลังจะตาย..เราจะยังพอใจไหม  และเราจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างไร คำตอบก็คือ ไม่แน่ใจ” “ยังไม่รู้ 
            ปัญหาที่คิดต่อไปอีกก็คือ.. ถ้าทุกคนทำใจให้พอใจกับชีวิตของตนได้ก็จบ แล้วทำไมนานแสนนานกว่าจะมีบุคคลพิเศษอย่างพระพุทธเจ้าเกิดขึ้นมาบนโลก  งั้นคนหลายคนก็เป็นพระพุทธเจ้ากันได้ง่ายๆ ปีหนึ่งๆ ก็นับไม่ถ้วน เพราะหลายคนก็พอใจกับชีวิตในปัจจุบันของเขา นี่แหละคือปัญหาว่าทำไม ๆ ๆ พระพุทธเจ้าจะต้องออกบวช และสาวกทั้งหลาย จึงยอมสละวิถีชีวิตแบบชาวโลกออกไปแสวงหาทางที่จะพ้นไปจากการ เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างถาวร ด้วยวิธีต่างๆ
            หรือถ้าจะบอกว่าภพชาติอะไรไม่มี ชาติหน้าไม่มี งั้นพระพุทธเจ้าก็สอนให้ฆ่าตัวตายด้วยวิธีเบาๆ ซะเลยซิ จะมาสอนวิธีการพ้นทุกข์ด้วยการปฏิบัติอะไรให้มันยุ่งยาก ก็แค่ใครไม่พอใจกับชีวิตก็เลือกวิธีฆ่าตัวตายไปแบบเบาๆ เท่านั้นก็สิ้นเรื่อง  แต่ชีวิตมนุษย์หรือสัตว์นี่มันซับซ้อนมาก เพราะมันมีสิ่งที่เรียกว่า จิตใจ มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจได้โดยง่าย  นั่นแหละจึงต้องใช้เวลาแสนนานกว่าจะมีใครสักคนเกิดมาบนโลกแล้วคิดค้นจน รู้เรื่องจิตใจอย่างแท้จริง แล้วก็ถ่ายทอดความรู้ต่อไปให้ผู้อื่นที่สนใจ
            ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงได้ลองศึกษาตัวเองโดยการนอนอยู่เงียบๆ นิ่งๆ หลับตา แล้วก็กำหนดโจทย์ไว้ว่า ถ้าเราจะตายในอีกไม่กี่นาทีนี้ หรือหลับไปโดยไม่ตื่น จิตใจเราจะเป็นอย่างไรบ้าง?  เมื่อสังเกตดูก็พบว่า.. จิตใจมันแส่ส่ายคิดไปต่างๆ นานา ส่วนมากก็เรื่องในอดีตที่ผ่านมา มันไม่เคยอยู่อย่างสงบ (ลองพิสูจน์กันแบบตรงๆโดยธรรมชาติ ไม่ใช่ขณะจงใจดัดจริตบังคับทำให้มันสงบโดยเทคนิคด้านสมาธิ หรือบังคับให้มันคิดแต่เรื่องดีดีที่เคยทำไว้) ความคิดมันไหลออกมาตลอดเวลา จบเรื่องนั้นก็ต่อเรื่องนี้ ยังกับดูหนัง และมันก็เป็นอยู่อย่างนั้นนานนับชั่วโมง ถึงขนาดว่าไม่รับรู้เกี่ยวกับร่างกายที่นอนอยู่เลย นั่นล่ะคืออาการที่ มันยังไม่สิ้นสุด เพราะสถานการณ์จริงๆ ตอนที่ตายแล้วนั้นจิตมันก็ไม่สนใจร่างกาย (ถ้าสนใจก็คือยังไม่ตาย) มันไปสนอยู่ในความคิดต่างๆ แต่อย่างไรเสียมันก็กลับมาหาร่างกาย เพราะลึกๆ แล้วมันยังจำว่าร่างกายเป็นตัวมัน (เหมือนเราจำอยู่ทุกวันนี้แหละ)  และถ้าเป็นจังหวะที่ตายด้วยอุบัติเหตุจิตมันก็จะสะดุ้งอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าการที่เรานอนเตรียมตัวรอตาย (สังเกตในขณะที่เราสะดุ้งตกใจทุกครั้ง เป็นเวลาที่น่าตั้งใจเรียนเป็นพิเศษ เพราะนั่นคือสภาวะธรรมชาติของจิตเราแท้ๆ ในขณะที่ไม่ได้ดัดจริต) แล้วเราจะมีความคิดอย่างไรบ้างในขณะนั้น บอกตรงๆ ว่าเรา ไม่อาจตั้งท่า คอยต้านทานหรือบงการจิตที่มีความเร็วมากขนาดนั้น  ทุกอย่างจะเป็นไปโดย อัตโนมัติ ไม่ใช่เรื่องที่เราจะคอยกำหนด  ถ้าเราคอยกำหนดมันก็ยัง เป็นเรา” (status) คือมีตัวใครคอยกำหนดอยู่ มันยังไม่สิ้นเรื่อง เพราะในเวลาถัดมาสภาวะที่ถูกกำหนดนั้นมันก็จะอ่อนกำลังคลายตัวลง  นี่คือความรู้ที่ข้าพเจ้าได้จากการสังเกตและศึกษา  ข้าพเจ้าไม่ได้ยืนยันว่าถูกหรือผิดอะไร ทุกคนก็ทดลองพิสูจน์และเรียนได้ด้วยตนเอง  แต่สิ่งที่ข้าพเจ้าสรุปเป็นการส่วนตัวก็คือ มันยังไม่จบง่ายๆ  นี่จึงเป็นเหตุที่ผลักดันให้ข้าพเจ้าเดินหน้า ศึกษาวิจัยธรรมชาติของชีวิตตัวเอง ต่อไป มันน่าสนใจมากๆ และเป็นวิชาที่สนุกที่สุด ยิ่งเรียน..ก็ยิ่งรู้ ยิ่งรู้..ก็ยิ่งเข้าใจ ยิ่งเข้าใจ..ก็ยิ่งเบา
            อย่างน้อย..การทำตัวให้มีสถานภาพ (status) เป็นนักเรียนหรือนักศึกษาตลอดชีวิต ก็ดีกว่าจะทำตัวเป็นสถานภาพอื่น  เพราะมันจะช่วยไม่ให้เราวิตกกังวลกับเรื่องอะไรมากมายเสียจนหลงไปกับอารมณ์แล้วก็ทิ้งสติปัญญา  และมันก็จะเป็นอุปนิสัยที่จะทำให้เราชอบศึกษาค้นคว้าคิดหาคำตอบในทุกเรื่อง นั่นคือทำให้เราดำเนินชีวิตโดยตั้งอยู่บน หลักเหตุผล ซึ่งตรงกันกับ หลักที่ธรรมชาติดำเนินอยู่  เมื่อเราปรับทิศทางการเรียนหรือการศึกษาของเราให้มุ่งไปในเรื่องใด มันก็มีโอกาสที่จะรู้แจ้งในเรื่องนั้นได้ในสักวัน  
            ความเป็นนักเรียนหรือนักศึกษานี่เรามีกันมากพอสมควรทุกคน เพราะกว่าจะโตมาขนาดนี้ เราก็ผ่านการเรียนมามากมาย และทุกวันนี้ ก็ยังเรียนอยู่  มันสำคัญอยู่ตรงที่ว่า เราตั้งใจเรียนเรื่องตัวเอง (กายและใจ) หรือเปล่า ???

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น