ความประทับใจครั้งแรก...แต่เป็นความโง่ครั้งที่ร้อย
1st Impression & 100th Stupidสมัยหนึ่ง ข้าพเจ้าได้เห็นนักบวชท่านหนึ่งนั่งนิ่งๆ มีท่าทางสงบ ไม่วอกแวก ตัวตรง หลับตา ไม่แส่ส่ายไปมองที่ไหน กริยาเชื่องช้า พูดน้อย ดูสำรวม ข้าพเจ้าจึงนึกชื่นชมและเลื่อมใสในท่านนั้นโดยทันที แต่พอได้มีโอกาสพบกันหลายครั้ง ก็รู้สึกสะดุดสงสัยในบางสิ่ง แต่ก็ปล่อยผ่านไป ไม่ได้คิดว่าจำเป็นจะต้องหาคำตอบอะไร
หลังจากนั้นก็มีชาวบ้านได้เล่าถึงนักบวชท่านนั้น ว่าเป็นใคร มาจากไหน มีที่มาที่ไปอย่างไร จึงได้ทราบว่าก่อนที่ท่านจะมาบวชท่านประสบอุบัติเหตุได้รับการกระทบกระเทือนส่วนศีรษะ ทำให้สมองมีประสิทธิภาพลดลง พูด คิด และกระทำอะไรๆ ก็เชื่องช้ากว่าคนปกติทั่วไป ข้าพเจ้าจึงได้มองเห็น “ความงมงายของตัวเอง” ที่มันโผล่แสดงตัวออกมาชัดๆ แต่เราก็ยังตาบอดมองไม่เห็น
เรามักจะตัดสินใจไปกับสิ่งที่เราเห็นด้วยนิสัยหรือความเคยชิน (เผลอ) แล้วก็มักเชื่อโดยที่ไม่ได้คิดให้รอบคอบก่อน แม้กระทั่งความเลื่อมใสศรัทธา ก็เป็นเรื่องที่เราปรุงแต่งมันขึ้นมาเอง ทำไมเราไม่มองสิ่งที่กำลังเผชิญหน้าอยู่ ด้วยคำว่า “มันก็เป็นอย่างนั้นเอง” โดยไม่ต้องไปตีค่าให้สูงหรือต่ำ บวกหรือลบ ชอบหรือไม่ชอบ ก็เพราะว่า “สติปัญญาของเรามันน้อยไป” เราไม่ค่อยได้ฝึกฝนเจริญอบรมให้มีความคิดความอ่านที่รอบคอบและเฉียบคม เราถูกฝึกให้ต้อง "จำและเชื่อ" มาแต่ไหนแต่ไร พอได้ยินได้เห็นอะไรมาก็พร้อมจะจำและเชื่อ เชื่อเอา..เชื่อเอา โดยทันที เป็นอย่างที่พระอาจารย์ย้ำนักย้ำหนาว่า “ทำไมจะต้องเชื่อ”
ถ้ามองแบบภายนอกไกลๆ ในแง่ของชาวโลกทั่วไป ความเชื่อ หรือความศรัทธา ก็มีส่วนช่วยลดความกระด้างของเราลงไปได้เป็นครั้งคราว แต่สิ่งที่เราอาจได้มาเพิ่มทุกคราวด้วยเสมอก็คือ “ความงมงาย” อย่างกรณีที่ยกมากล่าวนี้
เรื่องนี้ไม่ใช่เจตนาจะไปสนใจที่ตัวนักบวชท่านนั้นว่าท่านดีหรือไม่ดี แต่มุ่งสนใจตรงที่ว่า “เรามันโง่” การที่ท่านมาบวชก็มีส่วนดีในแง่ที่ว่า อย่างน้อยเวลาที่ชาวบ้านจะได้มีพระสงฆ์ครบตามจำนวนที่เขาอยากได้ “เขาเชื่อกัน” ว่างานมงคลต้องนิมนต์พระ ๕ รูปขึ้นไป หรือ สวดอภิธรรมในงานศพต้องนิมนต์พระ ๔ รูป เท่านั้น "เขาว่าจึงจะถูก" ถ้ามากหรือน้อยกว่านี้มันไม่ถูก (มันผิดใคร? มันบาปหรือ? มันเป็นการกระทำที่ชั่วหรือ? อันนี้ขอให้คิด) เมื่อชาวบ้านเขาได้พระครบตามจำนวนที่เขาต้องการ ก็ช่วยให้เขามีเหตุปัจจัยนำไปปรุงแต่งคิดสร้างเรื่องต่อไปได้ว่า ทำอย่างนี้แหละ จึงจะได้บุญมาก (คงเต็มรถบรรทุกสิบแปดล้อ) ส่วนจะได้ความงมงายแถมหรือเปล่า? “มันเป็นเรื่องส่วนตัว” ที่ผู้มีปัญญาจะนำไปขบคิดต่อเอง
ลองคิดต่อไปซิว่า...เราเกิดความประทับใจเมื่อแรกพบ...บ่อยแค่ไหน ไม่ว่าจะประทับใจต่อบุคคล สัตว์ สิ่งของ สถานที่ คำพูด บทกวี บทเพลง ท่วงท่าลีลา ฯลฯ ทำไม “จังหวะแรก” มันไม่ “เกิดความคิด” พิจารณาด้วยปัญญาเสียก่อน แล้ว “จังหวะที่สอง” มันจึงค่อย “เกิดความประทับใจ” (ถ้ามันสมควรจะประทับใจ) ???
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น