17 พฤษภาคม 2554

สวดมนต์ด้วยกัน...แต่ก็ต่างคนต่างสวด

สวดมนต์ด้วยกัน...แต่ก็ต่างคนต่างสวด
The Chorus
         มีช่วงหนึ่งที่โยมจากต่างถิ่นและโยมจากหมู่บ้านใกล้ๆ วัด มารวมตัวกันฟังธรรมในวันพระ (และมีอีกบางครั้งที่มีพระหลายรูปมาร่วมกันทำวัตรเช้า-เย็น)  ซึ่งกิจกรรมแรกที่ทำร่วมกันก็คือการสวดมนต์ ถ้าไม่คิดอะไรมาก การสวดมนต์ก็แค่หยิบหนังสือขึ้นมาแล้วก็สวดกันไป มันก็น่าจะเรียบร้อยแล้ว  แต่ถ้าสังเกตดูแบบละเอียดมันไม่เป็นอย่างนั้นซิ  ต่างคนก็ต่างมา ต่างคนก็ต่างสังคมวัด พอมาสวดด้วยกันมันก็เสียงไปคนละทางซิ เสียงสูง-ต่ำต่างกัน จังหวะช้า-เร็วไม่เท่ากันอีก  พอเราสังเกตดูแล้วมันก็ออกมาไม่น่าฟัง  จนบางทีหลวงพ่อก็เอ็ดเอาบ้าง
         แค่กิจกรรมธรรมดาๆ อย่างการสวดมนต์ มันก็สะท้อนให้เห็น อัตตา ได้เหมือนกัน  แล้วแต่ว่าใครจะสังเกตเห็นหรือไม่ ยกตัวอย่าง เช่น
         บางคน.. สวดเสียงดังฟังชัดกว่าคนอื่น แบบไม่สนใจใคร คนอื่นจะสวดแบบไหน ยังไง ฉันไม่สน ฉันไม่ยอมปรับเสียงปรับจังหวะอะไรทั้งนั้น ฉันจะสวดของฉันแบบที่เคยทำอยู่เป็นประจำ เพราะคิดว่าฉันสวดเพราะดีแล้ว จังหวะจะโคนเหมาะสมน่าฟังกว่าพวกคุณทั้งหลาย  ชนิดที่ว่า ฉันดีกว่า พวกคุณต้องปรับเสียงให้มันมาสอดคล้องกับฉัน นี่คือทำด้วยความหยิ่ง หรือแสดงถึง มานะทิฏฐิ
         บางคน.. ก็เปิดหนังสืออ่านสวด ตั้งใจอ่านตามทุกตัวอักษรเลย จนไม่เงี่ยหูฟังเสียงคนอื่นสวด สมาธิดีเลิศ  ตั้งหน้าตั้งตาอ่านสวดเฉพาะตน  ใครจะสวดเสียงสูงเสียงต่ำยังไง ฉันไม่รู้ ไม่ได้ยิน เขาจะสวดช้าหรือเร็ว ฉันไม่สน  นี่คือทำด้วย ความหลง ไม่ลืมหูลืมตา
         ปกติเวลาสวดมนต์ แต่ละแห่งแต่ละวัดเขาจะมีคนนำสวด อาจจะเป็นพระหรือโยมก็ตาม  คนที่มาร่วมกันสวดก็ต้องฟังเสียงของผู้นำ ท่านจะนำสวดด้วยเสียงเล็กแหลมหรือเสียงทุ้ม (คีย์สูง หรือคีย์ต่ำ) สวดช้าหรือเร็ว  ก็ต้องสังเกตไปด้วยในขณะสวด  ปากก็สวด หูก็ฟัง ตาก็ดูตัวหนังสือไป แล้วก็พยายามปรับให้สอดคล้องกับเสียงผู้นำสวด นี่จึงจะเรียกว่า สวดมนต์แบบมี สติปัญญา (ในระดับหนึ่ง)
         นอกจากนี้ การสวดมนต์ก็สามารถทำให้เป็นการเจริญสติปัญญาขั้นละเอียดได้ด้วย เช่น ให้สติสัมปชัญญะ รู้อยู่ที่ริมฝีปากขณะขยับขึ้นลง  ดูเข้าไปที่นั่น  สติสัมปชัญญะมันก็จะไม่เผลอไปฟุ้งซ่านเรื่องอื่น  ไม่ใช่ว่าปากสวดไปแต่ปล่อยให้ใจคิดเรื่องอื่นไปเรื่อย เดี๋ยวก็เรื่องนั้น เดี๋ยวก็เรื่องนี้ จนสวดผิดบ้างถูกบ้าง  บางทีเผลอหลุดปากพูดคำอื่น(ตามที่ตัวเองกำลังคิดอยู่)ออกมาแทนบทสวด  ถ้าสังเกตดูโดยละเอียด จะเห็นได้ว่าการขยับปากขึ้นลง มันถูกผลักดันจากความคิด(สังขารขันธ์) และความจำ(สัญญาขันธ์)  มันต้องคิดถึงคำนั้นก่อน(ที่เคยจำไว้) แล้วค่อยขยับปากสวดออกมา  ฉะนั้น ถ้าหากเราคิดเรื่องอะไรอยู่ แล้วเรื่องนั้นมันก็มีกำลังมาก (เราให้ความสำคัญมันมาก) มันก็จะผลักดันให้พูดเป็นคำนั้นๆ ออกมาได้ในขณะสวด (เช่น ชื่อคน สิ่งของ หรือบทสวดบทอื่น ฯลฯ)
         บางทีขณะสวดไปมันก็ นึกไม่ออก ว่าท่อนต่อไปจะสวดว่าอะไร  ทั้งๆ ที่ปกติก็จำได้ แต่ขณะนั้นมันนึกไม่ทัน  หรือบางทีก็สวดผิดท่อนไปเลย  นั่นล่ะคือ สัญญาไม่เที่ยง (สัญญา อนิจจา)  เรื่องอื่นทั่วไปก็เช่นเดียวกัน แม้เราจะจำไว้แล้ว แต่บางคราวมันก็ลืม บางคราวมันก็นึกได้  มันเป็นธรรมดาอย่างนั้น  เอาแน่เอานอนไม่ได้เลย 
         เวลาเราสวดมนต์เราก็สังเกตดูอย่างนี้ ก็คือศึกษาการทำงานของกาย เราจะเห็นว่ากายมันเคลื่อนไหวไปกระทำอย่างนั้นอย่างนี้ก็เพราะถูกผลักดันจากความคิด(สังขารขันธ์)  ซึ่งกลไกนี้มันดำเนินอยู่ตลอดเวลาที่เรายังตื่นอยู่  หรือแม้แต่ตอนนอนหลับ(ไม่ใช่หลับสนิท) สังขารขันธ์มันก็คิดปรุงแต่งทำให้เราเกิดอาการที่เรียกว่าความฝัน  บางทีเรื่องที่กำลังฝัน(กำลังคิด)นั้นมันมีกำลังมาก มันก็ผลักดันร่างกายให้ขยับในขณะนั้นเลย เช่น ละเมอลุกเดิน ยกมือ ยกขา อ้าปากพูดหรือตะโกนออกมา ฯลฯ  ยกเว้นขณะหลับสนิทเท่านั้นจึงไม่เกิดความคิดปรุงแต่ง  แล้วใครจะห้ามกลไกความคิดปรุงแต่งนี้ได้ จะห้ามไม่ให้คิด ใครห้ามได้บ้าง  ก็คนตายเท่านั้นแหละที่ไม่คิด เพราะร่างกายคนตายมันมีแค่รูปขันธ์ มันไม่มีนามขันธ์  (ที่ว่ามานี้ไม่รวมถึง ร่างกายเคลื่อนไหวด้วยเหตุเพราะลมหรือแรงผลักจากภายนอก)
         ดังนั้น เราจึงมาศึกษาธรรมะก็เพื่อให้เข้าใจกลไกของชีวิต และยอมรับตามนั้นอย่างบริสุทธิ์  สิ่งต่างๆ ที่ธรรมชาติให้มามันก็ยังคงดำเนินไปอย่างนั้น  ขันธ์ห้าหรือกายกับใจมันก็ทำงานต่อไปตามหน้าที่  ไม่ใช่ว่าจะไปตัดขันธ์ใดขันธ์หนึ่งทิ้ง  เพราะ คนยังไม่ตายมันต้องมีขันธ์ห้าครบอยู่ทุกคน
         ที่กล่าวมานี้ไม่รวมพวกที่สวดบทสวดที่เขาแต่งขึ้นสำหรับพวก ขี้โลภ หรือ ขี้โง่ เช่น สวดเพื่ออยากให้อายุยืน อยากให้หายป่วย สวดเรียกโชคลาภ  สวดสะเดาะเคราะห์  สวดไล่ผี ฯลฯ  วิธีการสวดแบบนี้มันเป็นมาตั้งแต่โบราณยุคก่อนมีพระพุทธเจ้า แต่หลายคนก็นิยมยกย่องให้เกียรติเชื่อถือเอาจริงเอาจัง  มันแสดงให้เห็นว่าห่างไกลพระพุทธเจ้ามาเพียงใด  ถ้าบทสวดเหล่านั้นมันมีอานุภาพแน่นอนเหมือนกับกินน้ำตาลแล้วต้องหวานแน่ๆ อันนี้ค่อยถือว่าสมเหตุสมผล  ใครสวดก็ต้องได้รับผลเหมือนกันทุกคน  นั่นจึงสมควรจะเชื่อถือเพราะเป็นของจริง  แต่นี่มันก็มีได้บ้างไม่ได้บ้าง  ไอ้ที่ได้มาก็ไม่รู้ว่าได้มาเพราะสวดมนต์บทนั้นจริงหรือเปล่า  แต่สรุปแล้วการที่ยอมมาสวดมนต์ก็เพราะ โลภอยากได้ หรือ หลงคิดว่าจะได้  ถ้าบอกให้สวดโดยไม่เอาอะไรมาล่อ ก็คงไม่สวด  ประเทศอินเดียเขาสวดกันมากมาย บวงสรวงสารพัดเจ้าพ่อเจ้าแม่ แล้วเขามั่งมีศรีสุขขึ้นมาได้เพราะการสวดไหมล่ะ ก็เห็นยังอดอยากยากจนกันค่อนประเทศ 
         อย่างน้อยที่สุด การสวดมนต์ควรตั้งเจตนาไว้ว่า จะสวดเพื่อจะ เจริญปัญญา คือได้มีโอกาสทบทวน ทำความเข้าใจในบทที่สวด แล้วก็ขบคิดพิจารณาตามนั้นไป สวดบ่อยๆ มันก็จำได้ขึ้นใจ แล้วก็นำไปใช้เป็นแนวทางประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  การศึกษาหลักธรรมะก็เหมือนเป็นการศึกษาวิชาความรู้อีกแขนงหนึ่ง ซึ่งไม่ค่อยได้สอนกันในโรงเรียนหรือมหาลัย  แต่วิชาความรู้นี้ถือว่าก็เป็น วิชาชีพ เพราะเราสามารถใช้ในการดำรงชีพ ถ้าใช้แล้วก็จะดำรงชีพให้เป็นอยู่เป็นไปได้ด้วยดี มีความรู้สึกเป็นทุกข์น้อยลง บำบัดทุกข์ได้จากภายใน ไม่ใช่ว่าจะไปคอยอาศัยแต่สิ่งภายนอกมาช่วยบำบัดทุกข์
         นี่คือเรื่องง่ายๆ แค่การสวดมนต์  ถ้าจะทำให้มันเป็นการปฏิบัติธรรมแบบละเอียดก็สามารถทำได้  สัมมาทิฏฐิหรือความเห็นอันชอบ จึงเป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าขาดสัมมาทิฏฐิจะปฏิบัติมากแค่ไหนมันก็ไม่ถูก มันก็เหมือนกับคนทั่วไปที่มีการปฏิบัติอะไรกันมากมายอยู่แล้วในชีวิตประจำวัน แต่นั่นก็ไม่เรียกว่าปฏิบัติตรงตามคำสอนของพระพุทธองค์ มันเป็นแค่การปฏิบัติตามความคิดความเห็นของตัวเองเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น